รามาฯ จับมือ GSK และพันธมิตร ปั้นโมเดลสุขภาพเน้นคุณค่า สู้โรคหืด-ปอดอุดกั้นฯ ตั้งเป้าลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย

11

มิติหุ้น – กรุงเทพฯ, 16 กรกฎาคม 2568 – การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และภาวะวิกฤตทางการเงินของครอบครัวของผู้ป่วยจากค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบการบริบาลสุขภาพแบบครบวงจรสำหรับโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิผล โดยใช้ต้นทุนที่เหมาะสมและยั่งยืนภายใต้บริบทของระบบสุขภาพไทย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุข, และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ประกาศความร่วมมือลงนามในบันทึกข้อตกลง การดำเนินโครงการ “Value-Based Healthcare (VBHC) Policy Community” เพื่อขับเคลื่อนการสร้างระบบบริบาลสุขภาพแบบเน้นคุณค่าสำหรับผู้ป่วยโรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนาม

ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงเจตนารมณ์ของโครงการว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างคุณภาพในการรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนี้ จึงได้ร่วมมือกับ GSK ในฐานะภาคเอกชนด้านชีวเภสัช โดยเฉพาะเวชภัณฑ์สุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนา ในการพัฒนาและดำเนินงานโครงการ “Value-Based Healthcare (VBHC) Policy Community” ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของระบบสุขภาพในประเทศไทย ที่ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และในเวลาเดียวกันสามารถจัดการภาระทางการเงินของหน่วยบริการสุขภาพได้ เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทย

สำหรับกระบวนการดำเนินงาน รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังว่า ความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายยุคนี้คือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็ว โครงการนี้จึงนำแนวคิด ‘ห้องปฏิบัติการนโยบาย (policy lab)’ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่เปิดให้ทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งตัวแทนกลุ่มผู้ป่วย มาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในกระบวนการออกแบบนโยบายสุขภาพ โดยเราจะนำเครื่องมืออย่างกระบวนการคิดเชิงระบบ (systems thinking) เพื่อมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาทั้งหมด และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) เพื่อใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการออกแบบนโยบายการจัดระบบบริบาลสุขภาพแบบเน้นคุณค่า (value-based healthcare) โดยเน้นการจัดระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการ ที่ก้าวข้ามการแก้ปัญหาแบบแยกส่วนของสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์ภาระโรคได้อย่างยั่งยืน และเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการจ่ายเงินของกองทุนสุขภาพเพียงเพื่อให้ประชาชนมีโอกาส ‘เข้าถึงบริการสุขภาพ’ ไปสู่การจ่ายเงินเพื่อเอื้อให้เกิดคุณค่าที่สำคัญที่สุดคือ ‘ผลลัพธ์สุขภาพที่ดี’ (value-based payment)

นางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและภาคีเครือข่าย ในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยยึดผลลัพธ์ทางสุขภาพของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ที่ GSK เราขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างทางเลือกที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ผู้ป่วย แม้โรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นโรคที่สามารถดูแลและจัดการได้ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากยังคงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสร้างภาระต่อระบบสาธารณสุข แนวคิด value-based healthcare สำหรับโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจึงถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพที่เน้นผลลัพธ์ และความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงการดูแลรักษาอย่างยั่งยืน เรามุ่งหวังให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสม ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ และมีความเป็นอยู่ที่ยืนยาวขึ้น

ขณะเดียวกัน นพ. กฤช ลี่ทองอิน ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการออกแบบระบบกลไกการจ่ายแบบเน้นคุณค่า สำหรับโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง สปสช. ได้ให้รายละเอียดในมิติการเงินการคลังสุขภาพว่า “สปสช. กำลังปฏิรูประบบการจ่ายค่าบริการครั้งสำคัญ โดยนำแนวคิดการจ่ายแบบเน้นคุณค่า (value-based payment) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปลี่ยนจากการจ่ายตามปริมาณของการจัดบริการ มาสู่การจ่ายที่ผูกกับผลลัพธ์สุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ป่วย โครงการความร่วมมือนี้จึงเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) และจะช่วยให้เรามีข้อมูลเชิงลึกสำหรับวัดและประเมินผลลัพธ์ของระบบการดูแลแบบใหม่นี้ได้อย่างเฉียบคมยิ่งขึ้น ผลการดำเนินงานในระยะเริ่มต้นที่เห็นได้ชัดคือประกาศล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2568 ที่ สปสช. กำหนดหลักเกณฑ์จ่ายค่าบริการเพิ่มเติม ‘ตามผลลัพธ์’ สำหรับการควบคุมความรุนแรงของโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อร้ง ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนหน่วยบริการสุขภาพที่สามารถส่งมอบผลลัพธ์ที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วย ทั้งในกระบวนการคัดกรอง การเข้าถึงคลินิกคุณภาพ และการลดอาการกำเริบของผู้ป่วย

ด้าน นายแพทย์รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ ประธานร่วมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อ ด้านโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กล่าวว่า คณะกรรมการ service plan ของกระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคลินิกคุณภาพสำหรับโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เน้นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ป่วยควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคลินิกคุณภาพที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด value-based healthcare ซึ่งความร่วมมือระหว่างรามาธิบดีกับ GSK ในการพัฒนา VBHC Policy Community นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการออกแบบและขยายคลินิกคุณภาพสู่หน่วยบริการในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ลดการกำเริบ และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพคุณภาพในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma COPD Clinic: EACC) กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานที่คลุกคลีกับผู้ป่วยมาตลอด ผมมองว่านี่คือก้าวกระโดดของระบบบริการสุขภาพไทย เพื่อทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ‘Admission near 0’ หรือการลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากอาการกำเริบให้ใกล้เคียงศูนย์ที่สุด เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และจับต้องได้ หากเราสามารถสร้างระบบที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาตามแนวทางมาตรฐาน เข้าถึงยาที่ถูกต้อง และมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันสาเหตุของอาการกำเริบ ซึ่งมีผลวิจัยรองรับว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ เครือข่าย EACC ทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้อย่างเต็มกำลัง เพื่อผลักดันให้แนวทางการดำเนินงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบเน้นคุณค่า ให้กลายเป็นกลไกสำคัญเติมเต็มระบบบริการสุขภาพของไทยให้เข้มแข็ง

ความร่วมมือระหว่างรามาธิบดี GSK และภาคีเครือข่ายครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับระบบสุขภาพไทย ผ่านการพัฒนาโมเดลการดูแลผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เน้นคุณค่า ผลลัพธ์และความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ป่วยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและลดภาระต่อระบบสุขภาพในระยะยาว อันจะเป็นการวางรากฐานระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและยั่งยืนเพื่อคนไทยทุกคน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon