ผู้เสียหายจาก STARK ยังเดือดต่อเดินหน้าร้องสภาฯเชิญก.ล.ต.ชี้แจง หลังพบลงดาบปรับบลจ.เงินกว่า 2 ล้านบาท ฐานบริหารจัดการไม่รัดกุม

24

มิติหุ้น – ตัวแทนผู้เสียหายรายย่อยจากการลงทุนหุ้น STARK ผ่านกองทุน LTF เดือดต่อ หลังพบ ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ บลจ.แห่งหนึ่งกว่า 2 ล้านบาท ฐานบริหารจัดการไม่รัดกุมในกรอบเวลาใกล้เคียงช่วงเกิดเหตุกับ STARK  โดยก่อนหน้าเคยยื่นหนังสือให้ ก.ล.ต. เอาผิด แต่ยังไม่พบหลักฐานจึงเอาผิดไม่ได้ ล่าสุดได้เข้าชื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้เชิญ ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่า การลงโทษเปรียบเทียบปรับ บลจ.และผู้บริหารครั้งนี้ ใช่กรณี STARK หรือไม่ หากใช่พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายทันที

นายณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาให้กับทุนรายย่อยหุ้นที่เป็นผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) STARK ว่า ล่าสุด11 กรกฎาคม 2568-ตัวแทนผู้เสียหาย ได้เข้าชื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้เชิญ ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่า การลงโทษเปรียบเทียบปรับ บลจ.และผู้บริหารดังกล่าวเป็นกรณี STARK ใช่หรือไม่ หากใช่ก็จะได้เรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อนักลงทุนผู้เสียหายต่อไป และร้องขอให้ ก.ล.ต.ได้เปิดเผยกรณีนี้ต่อนักลงทุนและสาธารณชน อย่างเปิดเผยโปร่งใสต่อไป

โดยกรณีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568- เว็บไซต์ ก.ล.ต.ได้รายงานว่า ได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับกองทุน บลจ.แห่งหนึ่ง เป็นเงิน 2,091,750 บาท ระบุกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 117 กล่าวคือระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2566 – 28 ตุลาคม 2568 บลจ.ดังกล่าว มีระบบการจัดการลงทุนในเรื่องการวิเคราะห์ทบทวนและติดตามคุณภาพหลักทรัพย์ ไม่รัดกุมเพียงพอ

วันเดียวกันได้เปรียบเทียบปรับผู้บริหาร บลจ.ดังกล่าว 2 ราย รายแรกมีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) อีกรายเป็นประธานคณะกรรมการการลงทุนของบลจ. โดยปรับรายละ 112,500 บาท ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ มาตรา 283 วรรค1 และมาตรา 117 กล่าวคือ มีหน้าที่กำกับดูแลให้มีระบบงานการจัดการลงทุนในเรื่องการวิเคราะห์ทบทวนและติดตามคุณภาพหลักทรัพย์ให้รัดกุมเพียงพอตามเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด แต่ไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ จึงต้องรับผิดกรณี บลจ.  มีระบบงานการจัดการลงทุนในเรื่องการวิเคราะห์ทบทวนและติดตามคุณภาพหลักทรัพย์ไม่รัดกุมเพียงพอตามเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนไปเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566 ตัวแทนผู้เสียหายในการลงทุนหน่วยลงทุน LTF ของกองทุน บลจ.แห่งหนึ่งเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. ขอให้ลงโทษต่อ บลจ.แห่งนั้น เนื่องจากนำเงินไปลงทุนหุ้น STARK เกิดผลเสียหายราว3,500ล้านบาท ฐานความผิด ไม่ได้จัดการกองทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน แต่หลังยื่นหนังสือไปแล้วเกือบหนึ่งปี ก.ล.ต.มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้เสียหายว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าบลจ.ดังกล่าว มีพฤติกรรมดังที่กล่าวหา หากท่านมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่จะแสดงให้เห็นถึงการมีพฤติกรรมตามที่ระบุ ขอให้นำส่งให้ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยหากมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย จะพิจารณาดำเนินการ และเปิดเผยทางเว็บไซต์ต่อไป

ดังนั้นเมื่อ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศเปรียบเทียบปรับตามที่กล่าวในข้างต้น ทางผู้เสียหายในการลงทุนหน่วยลงทุน LTF ที่เคยยื่นหนังสือให้ ก.ล.ต. ลงโทษ บลจ.แห่งนั้น จึงต้องการทวงถามความชัดเจนเพื่อนำมาสู่การเรียกร้องในขั้นตอนต่อไป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon