สำนักงาน กสทช. ลงพื้นที่ จ.เชียงราย รับฟังความคิดเห็นปัญหาและอุปสรรคการใช้งานคลื่นความถี่และระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสาร

26

มิติหุ้น – วันนี้ (23 ก.ค. 2568) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุม กสทช. ครั้งที่ 21/2568 เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. เสร็จสิ้นในเวลา 13.10 น.

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้มีระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 88 วาระ ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 17 วาระ ได้แก่ วาระที่เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบกิจการ การกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาต ข้อร้องเรียน รวมทั้งการดำเนินคดีต่างๆ ที่มีผู้ฟ้องร้องตามกระบวนการ ทั้งนี้ มีวาระที่น่าสนใจ คือ วาระที่ 3.1 รายงานสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานคลื่นความถี่และระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย โดยสำนักงาน กสทช. ได้รายงานผลการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นปัญหาจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานภาคอาสามัคร สมาคม และมูลนิธิสาธารณกุศล กิจการวิทยุสมัครเล่น โดยสรุปประเด็นสำคัญแนวทาง 5 ด้านหลัก ดังนี้

1. การสื่อสารและคลื่นความถี่ในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติสอดคล้องตามแนวทางและกฎหมายของ กสทช. เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนภาพกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ โดยเพิ่มเติมหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ในสถานการณ์จริงและบริบทปัจจุบัน

ปัจจุบัน คลื่นความถี่ย่าน VHF และ UHF มีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานกู้ภัย หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน วิทยุสมัครเล่น และอาสาสมัครภาคสนาม เนื่องจากเป็นคลื่นวิทยุที่สามารถส่งสัญญาณได้ ในระยะไกล แม้ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกีดขวาง และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องส่งวิทยุสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดแนวทางและออกระเบียบที่เปิดช่องอนุญาตให้สามารถใช้คลื่นความถี่เป็นกรณีพิเศษในภาวะวิกฤติ เพื่อสนับสนุนเครือข่ายวิทยุสมัคร (Amateur Radio) ให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายสำรอง (Back-up Communication) ซึ่งเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือทั้งภาครัฐและประชาชนในยามวิกฤติ ได้อย่างถูกกฎหมาย

2. การใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการบันทึกข้อมูล เสนอให้มีการกำกับดูแล IoT เนื่องจากเทคโนโลยี IoT และ GPS นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ในสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อระบุ ติดตาม ตำแหน่งของจุดเกิดเหตุ ผู้ประสบภัยพิบัติ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการใช้งาน IoT (ใช้คลื่นความถี่วิทยุ ย่าน 920 – 925 MHz) และระบบบันทึกข้อมูลภาคสนามที่เชื่อมโยงผ่านระบบไร้สายหรือคลื่นความถี่นั้น ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน กสทช. เพื่อการผลักดันโครงการ ‘เมืองอัจฉริยะ’ และ ‘เครือข่ายฉุกเฉินอัจฉริยะ’

3. การจัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงภัยพิบัติและความสอดคล้องกับกฎหมายและแนวทาง กสทช. เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถช่วยรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปผลข้อมูลได้อย่างถูกต้องทันท่วงที ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อการประสานงานและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เช่น 3G 4G และ 5G ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงต้องจัดทำแนวปฏิบัติร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อภัยพิบัติในอนาคต

4. การสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เสนอให้มีการประสานคลื่นความถี่ อำนวยความสะดวกด้านเครือข่าย โดยหน่วยงานของสามารถสนับสนุนการตั้งจุดสื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Command Unit) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกลเข้าสู่ระบบศูนย์กลางในระดับพื้นที่ และสร้างความเข้าใจร่วมกันจากแผนขั้นตอนปฏิบัติงานตามมาตรฐาน SOP (Standard Operating Procedure) เนื่องจากหน่วยงานของรัฐในทุกระดับมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปฏิบัติงานในพื้นที่

5. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสาร ทั้งในส่วนของการสร้างบุคลากร โครงข่ายสื่อสาร และแนวทางปฏิบัติด้านการสื่อสารในกรณีเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ

นอกจากผลจากการรับฟังความคิดเห็น และปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักงาน กสทช. สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงแผนขั้นตอนปฏิบัติงานตามมาตรฐาน SOP กรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม และเป็นระบบ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีเครือข่ายสื่อสารที่ใช้งานได้อย่างทันท่วงทีในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon