มิติหุ้น – ในการประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยกเว้นสเปนตกลงจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมขึ้นเป็น 5.0% ของ GDP ภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่การลงทุน 3.5% ของ GDP ในงบกลาโหมหลัก เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล (vs. 2.0% เป้าหมายก่อนหน้า) และอีก 1.5% ของ GDP สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันประเทศและความมั่นคงในวงกว้าง เช่น โครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับกับยานพาหนะทางการทหารได้ รวมถึงการลงทุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และหน่วยข่าวกรอง
โดยเราประเมินว่า ประเทศสมาชิก NATO ในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยผู้นำรัฐบาลของหลายประเทศต่างออกมาแสดงความเห็นว่าจะเพิ่มงบกลาโหมให้ถึงระดับราว 3.0-3.5% ของ GDP ภายในปี 2030 อาทิ
1) เยอรมนีจะเพิ่มเป็น 3.5% ของ GDP ภายในปี 2029F จาก 2.1% 2024
2) ฝรั่งเศสจะเพิ่มเป็น 3.0% ของ GDP ภายในปี 2030F จาก 2.1% 2024
3) โปแลนด์จะเพิ่มเป็น 5.0% ของ GDP ภายในปี 2026F จาก 4.1% 2024
4) สวีเดนจะเพิ่มเป็น 3.5% ของ GDP ภายในปี 2030F จาก 2.1% 2024
5) ขณะที่อิตาลีจะเพิ่มเป็น 3.5% ของ GDP ภายในปี 2035F จาก 1.5% ปี 2024
6) อย่างไรก็ดี สเปนระบุว่าจะเพิ่มเป็น 2.1% ของ GDP ภายในปี 2025F เท่านั้น จาก 1.3% ปี 2024
อย่างไรก็ดี เรามองว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายด้านกลาโหมจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศสมาชิก ตามความจำเป็นเร่งด่วน การสนับสนุนของประชาชนที่จะนำงบประมาณมาใช้ด้านการทหาร และช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลัง
โดยประเทศที่อยู่ใกล้รัสเซีย เช่น โปแลนด์, เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ต่างลงทุนในงบกลาโหมหลักสูงกว่าหรือใกล้เคียงเป้าหมายที่ 3.5% ของ GDP อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ประเทศโปรตุเกส สเปน เบลเยียม และอิตาลี ที่ภูมิประเทศตั้งอยู่ไกลจากสนามรบของรัสเซีย-ยูเครน ต่างลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศน้อยกว่าชาติสมาชิกอื่นๆ เนื่องจากมองว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ยังค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ อาจเพิ่มการลงทุนด้านการทหารไปสู่เป้าที่ตกลงไว้ช้ากว่าประเทศอื่นได้
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนของประชาชนยังเป็นอีกหนึ่งแรงต้านที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของงบกลาโหมในหลายประเทศ โดยการสำรวจของหลายสำนักชี้ว่า ประชาชนในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เอสโตเนีย และฮังการี ต่างมองว่ารัฐบาลใช้จ่ายด้านกลาโหมมากเกินไป ซึ่งกระทบกับรายจ่ายสาธารณะในการใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม
นอกจากนี้ ช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยจำกัดการเพิ่มขึ้นของงบกลาโหม เนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปขาดดุลการคลังอยู่แล้ว (Fiscal Deficits) ขณะเดียวกัน ประเทศในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังลงทุนน้อยกว่าเป้าหมายที่ตกลงไว้ราว 1-2% ของ GDP และหากพิจารณารายรับและรายจ่ายของภาครัฐ จะพบว่า สหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยเก็บภาษีทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดาในอัตราที่ค่อนข้างสูง ขณะที่รายจ่ายภาครัฐกลับผสมด้วยรายจ่ายเชิงประชานิยม รวมถึงสวัสดิการสังคม การจ้างงานข้าราชการและงานบริการสังคม จึงทำให้การปรับเพิ่มภาษีหรือปรับลดรายจ่ายจะกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฐานเสียงของรัฐบาลได้
โดยข้อจำกัดทางการคลังที่เป็นที่ประจักษ์ ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกมาตรการเพื่อให้ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปสามารถขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นได้อีก 1.5% ของ GDP เพื่อเพิ่มงบกลาโหม แม้ประเทศนั้นๆ จะขาดดุลการคลังเกินกว่า 3% ของ GDP (สหภาพยุโรปมีกฎห้ามประเทศสมาชิกขาดดุลการคลังเกิน 3% ของ GDP ในช่วงที่ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยหากขาดดุลเกินและยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นในระยะข้างหน้าจะถูกคาดโทษ) ส่งผลให้กว่า 16 ประเทศได้ส่งคำขอใช้มาตรการดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการยุโรปแล้ว
โดยสรุป เรามองว่าประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปมีแนวโน้มจะเร่งเพิ่มการลงทุนด้านการทหารในระยะข้างหน้า แต่การเพิ่มขึ้นของการลงทุนจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ หากประเทศในสหภาพยุโรปสามาระเพิ่มการลงทุนด้านการทหารขึ้นได้ถึง 3.5% ของ GDP ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นราว 0.6ppt ในปี 2028F จากที่เคยประเมินไว้
-
ญี่ปุ่น, ยูโรโซน, อังกฤษ และสหรัฐฯ: ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการและการผลิต (Service & Manufacturing PMI) เบื้องต้นเดือน ก.ค.
-
ยูโรโซน: ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ (New Car Registrations) เดือน มิ.ย.
-
สหรัฐฯ: ยอดขายบ้านมือหนึ่ง (New Home Sales) เดือน มิ.ย. และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 19 ก.ค.

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon