มิติหุ้น – บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) เปิดเผย “รายงานความมั่งคั่งและไลฟ์สไตล์จากทั่วโลก ประจำปี 2025” (Global Wealth and Lifestyle Report 2025) ที่จัดทำโดย จูเลียส แบร์ ซึ่งเผยให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs และ HNWIs) ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังคงมีการเติบโต โดยพบกระแสการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ (Longevity) ส่งผลสำคัญต่อการวางแผนชีวิตและการเงิน สอดคล้องกับนิยามของความหรูหราที่กำลังเปลี่ยนไปจากการบริโภคสินค้าหรูสู่การเน้นประสบการณ์อันล้ำค่า ขณะที่กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองค่าครองชีพแพงอันดับ 11 ของโลก และสิงค์โปรยังคงครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดความมั่งคั่งในเอเชียแปซิฟิกยังคงคึกคักและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นหัวใจของเศรษฐกิจโลก GDP โตต่อเนื่อง หนุนยอดเศรษฐีพุ่งพรวด
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในปี 2567 แต่ก็ยังคงแซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ความมั่งคั่งในภูมิภาคนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการเติบโตของ GDP ที่ 4.5% ในปี 2567 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 5.1% ในปี 2566 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.3% อย่างชัดเจน แนวโน้มนี้ส่งผลโดยตรงต่อจำนวนผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชีย ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี แตะระดับ 855,000 คนในปี 2567 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยหนุนสัดส่วนของ HNWIs รายใหม่ทั่วโลกในเอเชียให้สูงถึง 47.5% ระหว่างปี 2568 ถึง 2571 ตัวเลขเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นศูนย์กลางของโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งกำเนิดความมั่งคั่งที่สำคัญของโลก
กรุงเทพฯ ติดอันดับค่าครองชีพแพงติดอันดับ 11 ของโลก
รายงานเผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอันดับเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง โดยกรุงเทพฯ เลื่อนขึ้น 6 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค รายงานระบุว่า กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในมหานครที่แพงที่สุดในโลกสำหรับ สินค้าฟุ่มเฟือย อย่างแฟชั่นสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ รวมถึงรถยนต์และนาฬิกา สำหรับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ฮ่องกงอยู่ในอันดับ 3 (ลดลงจากอันดับ 2) โตเกียวเลื่อนขึ้น 6 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 17 และเซี่ยงไฮ้ลดลงจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 6
การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชียแปซิฟิก
ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มการเพิ่มทั้งการใช้จ่ายและการลงทุน (39%) โดยมีการเพิ่มขึ้นโดยรวมในการลงทุนสูงที่สุดที่ 68% ผู้ลงทุนในภูมิภาคนี้ยังมีแนวโน้มสนใจการลงทุนในเทรนด์อนาคตหรือการลงทุนที่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเองมากกว่าภูมิภาคอื่น ด้านหุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตามด้วยอสังหาริมทรัพย์และเงินสด นอกจากนี้ยังพบว่าแม้ภูมิภาคอื่นจะเกิด ESG fatigue หรือความอ่อนล้าจากการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่ในเอเชียแปซิฟิกกลับสวนทางด้วย ความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการลงทุนอย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ระยะยาวและความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างผลกระทบเชิงบวกควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางการเงิน
กระแสการมีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลต่อการวางแผนชีวิตและการเงิน
ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับการมีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิต (Longevity) เป็นอันดับต้นๆ โดย 100% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคนี้พบว่าพวกเขากำลังใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มอายุขัย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่ดี ไปจนถึงการบำบัดด้วยยีน (Gene) และไครโอจีนิกส์ (Cryogenic) ที่มีผู้ใช้ถึง 21% เมื่อพิจารณาถึงความยืนยาวทางการเงิน ผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงส่วนใหญ่กล่าวว่าพวกเขาจะปรับกลยุทธ์การจัดการความมั่งคั่งเพื่อรองรับการมีอายุยืนยาวขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะสร้างแผนการดูแลระยะยาวมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยมีถึง 68% ที่เลือกตัวเลือกนี้
เศรษฐีโลกเปลี่ยนโฟกัสจาก “ของหรู” สู่ “ประสบการณ์อันล้ำค่า”
รายงานยืนยันแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านจากการบริโภคสินค้าไปสู่การเน้นประสบการณ์ ในขณะที่การใช้จ่ายสำหรับสินค้าหรูหราชะลอตัวลง แต่ความต้องการสำหรับการรับประทานอาหารสุดหรู (Fine Dining) การท่องเที่ยวแบบเอ็กซ์คลูซีฟ และประสบการณ์ที่ได้รับการคัดสรรยังคงเติบโตได้ดี สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของนิยามของ “ความหรูหรา” ที่เปลี่ยนไปของกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูง โดยพวกเขาไม่ได้มองความหรูหราที่การครอบครองสิ่งของอีกต่อไป แต่หันมาให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์, ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing), และประสบการณ์ที่มีความหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เติมเต็มคุณค่าทางจิตใจและสร้างความทรงจำที่ยั่งยืนมากกว่าการเป็นเจ้าของวัตถุ
โอกาสและความท้าทายในอนาคต
ภูมิทัศน์ความมั่งคั่งในเอเชียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อธุรกิจแบบดั้งเดิมยังคงเป็นรากฐานสำคัญ แต่โอกาสใหม่จากเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูงในเอเชียให้หลากหลายและทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น การส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนมือของสินทรัพย์มูลค่ากว่า 5.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2566-2573 ซึ่งจะเร่งให้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความต้องการใหม่ในรูปแบบการใช้ชีวิตและการใช้จ่าย เช่น การมุ่งเน้นด้านความยั่งยืน การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และการให้ความสำคัญกับประสบการณ์เหนือกว่าการครอบครองสิ่งของ แนวโน้มเหล่านี้จะส่งอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดสินค้าหรูทั่วโลก อสังหาริมทรัพย์ และกลยุทธ์การลงทุน ในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต
SCB Julius Baer พร้อมรับมือภูมิทัศน์ความมั่งคั่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง
SCB Julius Baer ในฐานะ Private Baking จากสวิตเซอร์แลนด์เพียงแห่งเดียวที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย พร้อมรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญของภูมิทัศน์ความมั่งคั่งทั่วโลก โดยมุ่งเน้นให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูงในเมืองไทย ผ่านบริการที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้ง บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน บริการ Discretionary mandates ตลอดจนบริการการวางแผนความมั่งคั่งด้วยการจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน การวางแผนทางการเงิน และการส่งต่อความมั่งคั่งสำหรับคนรุ่นต่อไป โดย SCB Julius Baer พร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญ โดยทีมงานมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งประกอบด้วย ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์หรือ Relationship Manager (RM) และที่ปรึกษาการลงทุน หรือ Investment Advisors (IA) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ลูกค้าคนสำคัญ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถประเมินผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน และวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งให้กับรุ่นถัดไปได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon