มิติหุ้น – ในสังคมที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน เด็กจำนวนไม่น้อยกำลังต่อสู้อย่างเงียบงันกับบาดแผลในใจที่ไม่มีใครมองเห็น หนึ่งในภัยร้ายที่กำลังกัดกินจิตใจของเด็กไทยโดยที่สังคมยังไม่ตระหนักเพียงพอ คือ “การบูลลี่” หรือ “การกลั่นแกล้งกัน” ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน เสียดสี พูดจาดูถูก เพิกเฉย หรือประจานกันในโลกออนไลน์ การกระทำเหล่านี้ล้วนสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะป่วยทางจิตใจ และอาจนำไปสู่โรคจิตเวชที่รุนแรงถึงขั้น “คิดฆ่าตัวตาย” ได้
พญ.ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบเด็กวัยรุ่นป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น โดย “การบูลลี่” เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้าม เพราะ “เด็กที่ถูกบูลลี่ซ้ำ ๆ จะเริ่มหมดความมั่นใจในตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียน แยกตัวจากเพื่อนและครอบครัว เงียบ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เหม่อลอย ผลการเรียนลด การกินการนอนไม่ดี ไม่สนใจทำสิ่งที่เคยชอบ บางรายมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และคิดฆ่าตัวตาย โดยที่คนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกต”
นอกจากเด็กที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เด็กที่เป็น “ผู้กระทำ” เองก็อาจมีปัญหาทางจิตเวชโดยไม่รู้ตัว เช่น โรคสมาธิสั้น หรือภาวะซึมเศร้า โดยอาจใช้การกลั่นแกล้งผู้อื่นเป็นช่องทางระบายความรู้สึกด้อยค่าที่เก็บกดไว้ ขณะเดียวกัน เด็กที่เป็น “ผู้เห็นเหตุการณ์” หากไม่ได้รับการดูแล อาจเกิดภาวะเครียดเรื้อรัง (PTSD) หรือกลายเป็นผู้กระทำในอนาคตได้เช่นกัน
วงจรอันตรายนี้ยังอาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การใช้สารเสพติดตั้งแต่วัยเรียน ไม่ว่าจะเป็นกัญชา บุหรี่ไฟฟ้า หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งเด็กจำนวนมากยอมรับว่าใช้เพื่อหนีจากความเครียด หรือระบายความเจ็บปวดภายในใจ
พญ.ปรานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อัตราการพบโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5–10% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่เริ่มเปิดใจและเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
“ผู้ปกครองหรือครูไม่ควรรอให้เด็กป่วยรุนแรง หากเห็นพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึมเศร้า แยกตัว ไม่อยากเข้าสังคม หรือไม่พูดกับใคร ทั้งที่เคยเป็นเด็กสดใสร่าเริง ควรรีบพูดคุยและพาไปพบจิตแพทย์ เพราะการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ผลดีที่สุด”
ทั้งนี้ การรักษาโรคทางจิตเวชในวัยรุ่นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งครอบครัว โรงเรียน และทีมแพทย์ โดยบทบาทของครูและผู้ปกครองถือเป็น “ด่านหน้า” ในการสังเกตพฤติกรรมและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ผู้ใหญ่ในระบบการศึกษาไม่ควรมอง “การกลั่นแกล้ง” ว่าเป็นแค่เรื่องหยอกล้อธรรมดา เพราะหลายครั้ง “ความรุนแรงไม่ได้อยู่ที่มือ แต่อยู่ในคำพูดและท่าทีที่ทำลายจิตใจของเด็ก”
พญ.ปรานี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผู้ปกครองและคุณครูควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด หากเด็กมีอาการเงียบ ซึม ไม่สดใส แยกตัวออกจากเพื่อน อย่ามองว่าแค่ ‘นอยด์’ หรืออารมณ์แปรปรวนตามวัย เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าเล็ก อาจเป็นเรื่องใหญ่ในโลกของเด็ก จนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงเพื่อลดอัตราผู้ป่วยจิตเวชในวัยรุ่น แต่เพื่อปกป้อง “หัวใจเล็ก ๆ” ที่กำลังเติบโตภายใต้แรงกดดันมหาศาล
“สุขภาพจิตของเด็กก็เหมือนการสร้างตึก หากเราปล่อยให้รอยร้าวเล็ก ๆ เติบโตโดยไม่ดูแล วันหนึ่ง…ตึกทั้งหลังก็อาจพังทลายลง โดยที่เราไม่มีวันซ่อมกลับคืนได้อีก” และที่สำคัญ การ “บูลลี่” เพียงครั้งเดียว อาจกลายเป็น “แผลลึก” ที่ไม่มีวันจางหายไปจากใจของเขาไปตลอดชีวิต
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon