SCB EIC แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพารา

67

มิติหุ้น – SCB EIC คาดว่ารายได้อุตสาหกรรมยางพาราในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง แม้มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2025 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.3%YOY ตามราคาส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.2%YOY แต่ SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกยางพาราโดยรวมในปี 2025 จะหดตัว 3.8%YOY มาอยู่ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี ราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจาก 1) ภาวะขาดดุลในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลาย จากความต้องการใช้ยางพาราโลกที่จะเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากผลของมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ และ 2) ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและโรคระบาดในพืชที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2025 จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วย

ซึ่งจากข้อมูลเร็วของการยางแห่งประเทศไทย พบว่าในเดือน มิ.ย. (ข้อมูลถึงวันที่ 23 มิ.ย.) ราคาส่งออกยางแท่งลดลง 11.2%YOY ซึ่งเป็นการหดตัวลงครั้งแรกในปีนี้ ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำยางข้น และยางแผ่นรมควันปรับตัวลดลง 23.0%YOY และ 7.8%YOY ตามลำดับ โดย SCB EIC คาดว่าราคาส่งออกยางพาราเฉลี่ยในปี 2025 จะอยู่ที่ 1,737 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปรับตัวลดลง 2.0%YOY สำหรับปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 2025 คาดว่าจะลดลง 1.8%YOY เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนกดดันให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราในปี 2025 ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อราคาและปริมาณการส่งออกยางพารา

อนึ่ง อุตสาหกรรมยางพาราไทยมีผู้เล่นสี่รายครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ โดยผู้เล่นจะแข่งขันกันในด้านการกระจายแหล่งรายได้/ตลาด/วัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้เล่นรายใหญ่อยู่ในระดับต่ำ กดดันให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีต้นทุนสูงกว่า แข่งขันไม่ได้และต้องออกจากตลาดในที่สุด และทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2024 ส่วนแบ่งตลาดส่งออกยางพาราราว 70% กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 4 ราย โดยกลุ่มบริษัทที่จะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน จะต้องสามารถจัดการความเสี่ยงด้านตลาด แหล่งวัตถุดิบและราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล เช่น การดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยคว้าส่วนแบ่งตลาดยางพาราตลาดโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำในด้านปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้การนำเข้ายางพาราจากไทยจะมีต้นทุนการดำเนินการตาม EUDR ที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและโกตดิวัวร์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงปกติ

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon