BAM ซื้อหนี้เข้าพอร์ตหมื่นล้าน กองทุนเก็บ-กำไรโตระเบิด (8/01/63)

813

มิติหุ้น-BAM ราคาวิ่งแรงทำนิวไฮทะลุ 21 บาท วอลุ่มแน่นหลังเข้าตากองทุนดอดเก็บ หลังมั่นใจธุรกิจบริหารหนี้รายใหญ่ปึ๊ก พร้อมเดินหน้าซื้อหนี้เข้าพอร์ตปีละ 10,000 ล้านบาท เล็งเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา มั่นใจปิดงบปี62 กำไรแตะ 1.2 หมื่นลบ.กูรูส่องเป้า 24.27 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ภายหลังความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นร้อนแรงจนทะลุ 21 บาท/หุ้น อีกทั้งราคาหุ้นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เปิดศักราชซื้อขายปี 63  โดยล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนสถาบันในประเทศอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย ดอดเข้าเก็บหุ้น BAM เพิ่มอีกสัดส่วน 0.3374 % เพิ่มเป็น 5.1635 % ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการแล้ว

เป้าปี63รายได้ 1.8 หมื่นลบ.

ด้าน “นายบรรยง วิเศษมงคลชัย” ประธานคณะกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 63ที่ 18,000 ล้านบาท และเตรียมซื้อ NPLs และ NPAs จากสถาบันการเงินมาบริหารมากกว่า 12,000 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเปิดสาขาอีก 4 สาขา เป็น 30 สาขาจากปัจจุบันมีอยู่ 26 สาขาทั่วประเทศ คือ สาขาบางนา, ดอนเมือง, สมุทรปราการ และสาขากรุงเทพตะวันตก

เล็งซื้อหนี้ปีละ 10,000 ล้าน

ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า คาดปี 62  BAM จะมีกำไรสุทธิ 12,222 ล้านบาท เติบโต 134.9 %  จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังมีกำไรพิเศษจากการประเมินสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (DTA) ราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมกำไรปกติราว 7,220 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นที่มีการชำระเงินล็อตใหญ่จากลูกหนี้ NPL ผ่านกรมบังคับคดีราว 5,300 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลงหลังระดมเงิน IPO และนำไปชำระคืนหนี้บางส่วน นอกจากนี้ BAM ยังตั้งเป้าซื้อหนี้ NPLs และ NPAs ใหม่เพิ่มปีละ 10,000 ล้านบาท  แม้ว่าอนาคตต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นจาก Credit Rating ที่มีโอกาสถูกปรับลดลง แต่จะถูกชดเชยได้จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ NPL ตามนโยบายของบริษัท

ราคาเป้าหมาย 24.27 บ.

จากคอลัมน์ “เด็กแนว” ยกให้ BAM เป็นหุ้นขวัญใจ จากธุรกิจซื้อหนี้สถาบันการเงินในราคาต่ำๆมาบริหาร และขายออกในราคาสูง ทำให้อัตรากำไรสุทธิสูงระดับ 69% เฉลี่ยย้อนหลังธุรกิจที่ มีกำไรดีแบบ นี้หาที่ไหนไม่ได้แล้ว   เพียงแต่ต้องมีเงินทุนมาซื้อ NPAs ให้ได้มากๆ  จึงทำ ให้ต้องระดมทุนเข้าตลาดนั่นเอง ปัจจุบัน NPAs ในระบบสูงกว่า 7 แสนล้านบาท แต่มีบริษัทประเภทนี้ที่เข้าไปซื้อได้เพียง 7-8 หมื่นล้านบาท  ดังนั้นจึงยังมีโอกาสที่จะขยายตัวอีกมากมายมหาศาล และหากประเมินมูลค่าหลังเข้าตลาด จะมี  Book value 16.18 บาท ซึ่งสะท้อน PBV เพียง 1.08 เท่าถือว่าที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมประเมินราคาหมายที่ 24.27 บาท/หุ้น

www.mitihoon.com