มิติหุ้น – SCC โดยบล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า SCC รายงานกำไรสุทธิ Q1/68 ที่ 1,099 ลบ. ฟื้นตัวจาก -512 ลบ. ใน Q4/67 กำไรดีกว่าเราคาด 12% และดีกว่าตลาดคาดมาก สรุปได้ดังนี้
กลุ่มซีเมนต์ : ภาพรวมอุตสาหกรรมดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่การเบิกจ่ายล่าช้า ประกอบกับมีการปรับส่วนลดราคาขายให้กับคู่ค้าทำให้สุทธิแล้วราคาขายปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น และการปรับโครงสร้างภายในส่งผลให้ต้นทุนลดลงทำให้ EBITDA margin เพิ่มเป็น 18% จาก 12% ใน Q4/67
กลุ่มปิโตรเคมี : การใช้อัตรากำลังการผลิตของ SCC ยังสูงกว่าอุตสาหกรรมแต่การหยุดการผลิตของ LSP ทำให้ปริมาณขายรวมหด -6% q-q แต่ได้ผลบวกจากราคาวัตถุดิบลดลง โดย LSP ขาดทุนลดลงเหลือเพียง -2,948 ลบ. จาก -3,266 ลบ. ใน Q4/67
กลุ่มบรรจุภัณฑ์ : การดำเนินงานพลิกกลับมาฟื้นตัว q-q ตามปริมาณขายเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงการดำเนินงานของ Fajar ที่มี EBITDA ดีขึ้นจากการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน
LSP จะกลับมาผลิตหากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลับมาที่ 400 เหรียญ/ ตัน อีกครั้ง : ผบห. แจ้งว่าโรงงาน LSP จะกลับมาผลิตได้หากส่วนต่างราคา HDPE-นาฟทา กลับมาอยู่ที่ระดับ 400 เหรียญ/ตัน ได้ราว 1-2 เดือน ซึ่งจะช่วยลดผลขาดทุนของ LSP ลงได้ ปัจจุบันแม้ส่วนต่างราคาจะยืนระดับ 400 เหรียญ/ ตัน ได้แต่ยังคงมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม คาด LSP จะถึงจุดคุ้มทุนได้ในปี 69 ส่วนโครงการใช้อีเทนเป็นวัตถุดิบนั้นจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ลดลงจะเริ่มปลายปี 70 เป็นต้นไป
แนวโน้ม Q2/68 คาดฟื้นตัวต่อเนื่อง : คาดฟื้นตัวต่อเนื่อง q-q โดยธุรกิจซีเมนต์ยังได้ผลบวกจากการรับรู้การปรับราคาขายที่ปรับขึ้นเต็มไตรมาส ประกอบกับงานโครงการจากภาครัฐจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีความล่าช้า
ธุรกิจปิโตรเคมีคาดได้ปัจจัยหนุนจากราคาวัตถุดิบที่ลดลงและทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ดีขึ้น ขณะที่ LSP มีลุ้นว่าจะกลับมาผลิตได้หากส่วนต่างราคาดีขึ้น และจะช่วยลดผลขาดทุนให้ลดลง ส่วน ธุรกิจบรรจุภัณฑ์คาดได้ส่วนช่วยจากปริมาณขายเพิ่มขึ้น และต้นทุนที่ลดลงเช่นกัน เราคาดว่าผลคาดการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ “ดีต่อต้นทุนลดลง” : การขึ้นภาษีของสหรัฐคาดจะกระทบต่อ SCC น้อยมากเนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐเพียง 1% ของยอดขายเท่านั้น แต่จะทำให้ต้นทุนอย่างนาฟทาปรับลดลง(ตามราคาน้ำมันดิบ) และทำให้ส่วนต่างราคาเริ่มฟื้นตัว คงต้องติดตามว่าปัจจัยดังกล่าวจะดีต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหากราคามีการปรับลงราว 100 เหรียญ/ ตัน จะช่วยให้ต้นทุนลดลงราว 4,200 ลบ. / ปี
อีกทั้งอาจดีต่อผู้ประกอบการในกลุ่มปิโตรเคมีเนื่องจากจีนนำเข้าอีเทนจากสหรัฐ 100% และนำเข้าโพเพนจากสหรัฐ 60% ของการใช้ ซึ่งแม้ว่าในส่วนโพเพนจะสามารถนำเข้าจากตะวันออกกลางมาได้แต่ราคาอาจไม่ดีเท่ากับการนำเข้าจากสหรัฐอาจทำให้จีนผลิตน้อยลงจึงอาจเป็นบวกต่อผู้ผลิตกลุ่มปิโตรเคมีจากอุปทานในตลาดที่ลดลง อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงที่สินค้าจากจีนจะไหลมาที่อาเซียนอาจส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามการเจรจา
“จากการดำเนินงานที่ดีกว่าคาด และแนวโน้มข้างหน้าดูดีขึ้น ประกอบกับภายในก็เร่งปรับลดต้นทุน ดูค่าใช้จ่ายเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก แม้จะมีความเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้า แต่อาจเป็นบวกต่อบ. มากกว่าในภาพของต้นทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังต้องติดตามต่อ แต่เราคาดการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน P/BV เพียง 0.5 เท่า มีส่วนลดมากเกินไป และมีแนวโน้มที่ตลาดฯ จะปรับประมาณการใหม่จากงบที่ดีกว่าคาด ”
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon