SCB FM มองเงินบาทแข็งค่าจากปัจจัยต่างประเทศ ในระยะต่อไป คาดว่าอาจแข็งค่าต่อได้ แต่ต้องจับตาการขึ้น Tariffs ที่อาจทำให้อ่อนค่าบางช่วง

12

มิติหุ้น – กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทกลับมาแข็งค่าสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค จากการอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาค อย่างไรก็ดี เงินบาทยังแข็งค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ในระยะต่อไป เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อได้ ตามวัฏจักรเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าและการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐฯ เข้ายุโรปและเอเชีย ทั้งนี้ เงินบาทอาจแข็งค่าได้ไม่มาก เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทยยังต่ำ ทำให้ Repatriation flows ของไทยน่าจะมีน้อย ประกอบกับความน่าลงทุนในสินทรัพย์ไทยน้อยเช่นกัน จึงอาจมีเม็ดเงินจากต่างชาติน้อย นอกจากนี้ ต้องจับตาความไม่แน่นอนจากการปรับขึ้น Tariffs ของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้บาทอ่อนค่าได้บางช่วง คาดเงินบาทในระยะสั้นอยู่ที่กรอบ 32.50-33.50 และปลายปีอาจแข็งค่าไปที่กรอบ 31.50-32.50 สำหรับประเด็นที่ Fed คงดอกกเบี้ยนโยบายที่ 4.25-4.50% ตามที่ตลาดคาด และส่งสัญญาณว่าจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ SCB FM มองว่า การประชุมรอบหน้าในเดือน มิ.ย. Fed น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่กรอบเดิม และมองว่าโอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์มีมากขึ้น

นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงินและ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมากลับมาแข็งค่าขึ้นหลังจากที่เคยอ่อนค่าในช่วงที่สหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal tariffs เมื่อต้นเดือน เม.ย. โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องไปกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้บาทแข็งค่ามาจากปัจจัยต่างประเทศคือ การอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ และการที่เงินทุนไหลเข้าภูมิภาคทำให้เงินภูมิภาคสกุลอื่นแข็งค่า เช่น เงินหยวน และเงินไต้หวันดอลลาร์ สำหรับความผันผวนของเงินบาทปรับสูงขึ้นตามเงินภูมิภาคเช่นกัน

ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าเป็นผลจากนักลงทุนโลก Diversify การลงทุนออกจากสินทรัพย์สหรัฐฯ เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้า (Tariffs) ทำให้มุมมองต่อเศรษฐกิจ การกำกับดูแล และการปกครองของสหรัฐฯ ปรับแย่ลง สะท้อนจากการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ (Long USD position) ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุดอยู่ในสถานะ Short position มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ด้านสกุลเงินเอเชียกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับเริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามา ซึ่งเป็นไปตามกระแสเงินทุนที่เคยไหลออกจากสหรัฐฯ ไปยุโรปก่อนหน้านี้ โดยพบว่าเงินไหลกลับเข้าไต้หวัน เกาหลี ส่งผลให้สกุลเงินเหล่านั้นแข็งค่าเร็ว ดันให้เงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เงินไหลเข้ามาจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเหล่านั้นกับสหรัฐฯ ที่มีความคืบหน้าเร็วทำให้ตลาด reprice ว่าสงครามการค้าอาจไม่รุนแรงและส่งผลกระทบมากดังที่เคยกังวล ด้านเงินหยวนก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน สะท้อนจาก Fixing ที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นในเดือนนี้ หลังมีข่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมเจรจาการค้ากับจีน สำหรับปัจจัยในประเทศยังไม่กระทบเงินบาทมากนัก เช่น เงินเฟ้อไทยที่ออกมาติดลบมากกว่าคาด หรือการปรับลด Rating outlook ของ Moody’s ต่อไทย ยังไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญได้

ในระยะต่อไปมองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อตามวัฏจักรเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าและการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐฯ โดยมองว่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อได้อีก สะท้อนจากการเทขายสินทรัพย์สหรัฐฯ ของนักลงทุนต่างชาติที่ทำให้ยอดการถือครอง US Treasury bonds ปรับลดลง โดยมองว่ากระแสเงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ จะดำเนินต่อในปีนี้ นำโดยเงินที่ไหลเข้ายุโรปและเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลทางอ้อมทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ แม้ปัจจัยภายในประเทศจะยังอ่อนแอ นอกจากนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจเป็นอีกปัจจัยที่หนุนเงินบาทต่อได้ โดยไทยได้รับอานิสงส์จาก Trend เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรของกลุ่มประเทศเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางในเอเชียรวมถึงไทยมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อได้ในปีนี้ ตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงพร้อมกับทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอ ซึ่งต่างจากสหรัฐฯ ที่มีแรงกดดันจาก Tariffs ต่อเงินเฟ้อที่สูงกว่า นอกจากนี้ การที่นักลงทุนมองว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ยังส่งเสริมให้มี Flows ไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และเอเชียมากขึ้น เพราะนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูป Local currency มากขึ้น

ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มเงินทุนไหลเข้า (Capital inflows) ของไทยจะยังน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยพบว่ามูลค่าการถือครองสินทรัพย์สหรัฐฯ (หุ้นและพันธบัตร) ของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลี อีกทั้ง สัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของไทยก็ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้แนวโน้มที่นักลงทุนจะโยกเงินกลับมา (Repatriation flows) มีน้อย และเมื่อประกอบกับความน่าสนใจในการลงทุนในไทยที่น้อยอยู่แล้ว จึงทำให้มองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าจะไหลเข้าไทยในปีนี้ อาจมีน้อยกว่าประเทศอื่น

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนยังมีอยู่มาก โดยปัจจัยที่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าคาดคือ แรงกดดันจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบต่อดอลลาร์ โดยไทยไม่สามารถหาข้อตกลงในการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้ อาจทำให้ถูกเพ่งเล็งเรื่องค่าเงินแทน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเงินบาทอ่อนค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้ไทยอาจถูกกดดันให้ Revalue ค่าเงิน ทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าคาดได้ สำหรับความเสี่ยงด้านอ่อนค่า มองว่าเงินบาทอาจมี Correction จาก Flows ที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา โดยหากสหรัฐฯ ขู่ขึ้น Tariffs ต่อไทยในอัตราที่สูง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินทุนไหลกลับไปได้ เพราะความน่าสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ไทยยังต่ำ โดยที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติ (Non-residents holding of Thai government bonds) มีเพียงราว 9.8% ซึ่งยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ทางการจีนอาจตั้งใจให้เงินหยวนกลับไปอ่อนค่าได้ เพื่อลดทอนผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระหว่าง 4.25-4.50% นายวชิรวัฒน์มองว่า Fed จะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย โดยในการประชุมรอบหน้าในเดือน มิ.ย. Fed น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่กรอบเดิม ทั้งนี้ ตลาดมีมุมมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 3 ครั้ง (รวม 75 bps) ภายในปีนี้ ซึ่งหลังการประชุมวานนี้ ตลาดเริ่มมีมุมมองว่า Fed อาจเริ่มลดดอกเบี้ยช้าลงได้ โดยในปัจจุบัน ตลาดให้โอกาสราว 80% ที่ Fed อาจเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ค. (จากเดิมเคยให้โอกาสเกือบ 100%) นายวชิรวัฒน์มองว่า โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดมีมากขึ้น เนื่องจากนโยบาย Tariffs มีแนวโน้มกระทบเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ถึงขั้นหดตัว ทำให้ Fed อาจให้น้ำหนักที่เงินเฟ้อมากกว่า และพยายามลดดอกเบี้ยให้ช้าที่สุด ซึ่งผลดังกล่าวอาจทำให้ US Treasury yields ไม่ปรับลดลงได้อีกมากนัก ทั้งนี้ มองว่า US Treasury yield curve มีโอกาสลาดชันมากขึ้น (Bull steepening) เนื่องจากมองว่า Yields ระยะสั้นมีโอกาสลดลงได้มากกว่า Yields ระยะยาว และ Yields ระยะยาวจะมี Term premium สูงกว่าจากความเสี่ยงเรื่อง Tariffs

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon