CGSI : กลุ่มพลังงานของไทย ผลกระทบกรณีกพช.เตรียมปรับโครงสร้างต้นทุน pool gas

14

มิติหุ้น – ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.68 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติปรับโครงสร้าง pool gas ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ก๊าซในประเทศ), ก๊าซจากเมียนมาและ LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) นำเข้า ซึ่งราคาแพงที่สุดจากสามแหล่ง โดยตามมติของกพช.นั้น โรงแยกก๊าซ (GSP) ของ PTT จะกลายเป็นสินทรัพย์ก๊าซที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในลักษณะเดียวกับท่อส่งก๊าซ ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนจะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล

กพช.ยังมีมติเปลี่ยนการกำหนดต้นทุนโรงแยกก๊าซของ PTT โดยให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกที่สุดจากสามแหล่ง คืออยู่ที่ 189 บาท/mmbtu ในเดือนก.พ.68 จากเดิมที่ใช้ single pool gas (ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของก๊าซในอ่าวไทย, ก๊าซจากเมียนมาและ LNG นำเข้า; 315 บาท/mmbtu ในเดือนก.พ. 68) ซึ่งเริ่มใช้ต้นปี 67

อย่างไรก็ตาม PTT จะต้องนำกำไรสุทธิบางส่วนจากธุรกิจ GSP โดยเฉพาะจากอีเทนและโพรเพนที่ขายให้กับ PTTGC มาช่วยอุดหนุนราคาก๊าซที่ใช้โดยผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนก๊าซของผู้ผลิตไฟฟ้าและฝ่ายวิเคราะห์ฯเชื่อว่าจะเปิดทางให้รัฐบาลสามารถลดค่าไฟฟ้า

สำหรับภาคไฟฟ้านั้น ให้คำนวณต้นทุนโดยเรียงลำดับจากความสำคัญจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย, ก๊าซจากเมียน มา ตามด้วย LNG นำเข้า ดังนั้น จึงมองว่าผู้เสียประโยชน์คือผู้ใช้ก๊าซในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากต้นทุนก๊าซใหม่จะอิงกับราคา LNG นำเข้าเท่านั้น (484 บาท/mmbtu ในเดือนก.พ.68) ซึ่งต่างจากเดิมที่ใช้โครงสร้างราคาแบบ single pool gas

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจ GSP ของ PTT จะมี EBITDA เพิ่มขึ้นหรือลดลง หลังการปรับโครงสร้างล่าสุด เนื่องจากกำไรสุทธิของ GSP จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนกำไรที่บริษัทต้องนำมาช่วยหนุนราคาก๊าซให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้เชื่อว่า PTTGC น่าจะไม่ได้รับผลระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซล่าสุด เนื่องจากบริษัทได้มีการทบทวนสัญญาจัดซื้ออีเทนกับ PTT ในปี 67 ส่งผลให้ต้นทุนอีเทนเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมเพียง 3%

กพช.ยังมีมติชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซ (PPA) กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เปิดประมูลรอบ 2ซึ่งจะกระทบโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ที่มีกำลังการผลิตรวม 1.48GW จึงน่าจะทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ที่มีกำลังการผลิตรวม 192.88MW (กำลังการผลิตตามส่วนได้ส่วนเสีย 97.19MW) เปิด ดำเนินงานล่าช้า

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI  ยังแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) กลุ่มพลังงานของไทย เนื่องจากความต้องการพลังงานมีแนวโน้มลดลงจากความตึงเครียดทางการค้าที่ยกระดับขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่จะฉุดราคาหุ้นคือการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาล เพื่อควบคุมราคาพลังงานในประเทศ ขณะที่ upside risk จะมาจากความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon