GCAP ปักธงธุรกิจ Non-Lending ผุดโปรเจ็กต์ใหญ่บนเกาะเต่า “Koh Tao Lifestyle Complex” ผนึกพันธมิตร Ehang เปิดแผนธุรกิจ “โดรนโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว” ครั้งแรกในไทย

10

มิติหุ้น – “บมจ.จี แคปปิตอล หรือ GCAP” ปักธงลุยธุรกิจ Non-Lending วางแผนผุดโปรเจ็กต์ใหญ่บนเกาะเต่า  “Koh Tao Lifestyle Complex” ศูนย์รวมโรงแรมและกิจกรรมท่องเที่ยวครบวงจร พร้อมผนึกพันธมิตร Ehang ผู้นำระดับโลกด้านโดรนโดยสารจากประเทศจีน เตรียมจัดตั้งบริษัทย่อย “TAO AAM” (Autonomous Air Mobility) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการท่องเที่ยวและการขนส่ง ครั้งแรกในไทย คาดจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568  ส่วนแพลตฟอร์ม “เกษตรแมทช์ชิ่ง” แอปพลิเคชั่นสำหรับให้บริการจองรถเกี่ยวข้าว/ข้าวโพด เตรียมคิกออฟเปิดให้บริการในไตรมาส 3/2568 นี้ มั่นใจทั้ง 2 โปรเจ็กต์ หนุนรายได้บริษัทฯ ให้เติบโตแข็งแกร่งในระยะยาว

นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP เปิดเผยว่า แผนงานปี 2568 บริษัทฯ ยังคงเน้นสร้างการเติบโตในธุรกิจ Lending Business ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เครื่องจักรกลการเกษตร ที่บริษัทฯ มีความชำนาญมากว่า 20 ปี พร้อมเดินหน้าธุรกิจ Non-Lending Business เต็มที่ โดยมี 2 โปรเจ็กต์สำคัญ แพลตฟอร์ม “เกษตรแมทช์ชิ่ง” แอปพลิเคชั่นสำหรับให้บริการจองรถเกี่ยวข้าว/ข้าวโพด ซึ่งเตรียมเปิดให้ บริการในไตรมาส 3/2568 นี้ เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการเจ้าของรถเกี่ยว กับเกษตรกรรายย่อย ที่ต้องการจ้างเครื่องจักรไปเก็บเกี่ยวผลผลิต มั่นใจ “เกษตรแมทช์ชิ่ง” จะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนและเสริมสร้าง รายได้ให้กับผู้ประกอบการเจ้าของรถเกี่ยวข้าว/ข้าวโพด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ และช่วยให้เกษตรกรรายย่อย ได้เข้าถึงบริการรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันเวลาในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งจะสนับสนุนต่อแผนการเติบโตของบริษัทฯ ใน ระยะยาวต่อไป

ในส่วนโครงการสนามบินส่วนบุคคลเกาะเต่า เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบินได้มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนวัตกรรมโดรนโดยสาร (Passenger Drone) ซึ่งจะมีการใช้พื้นที่น้อยกว่าการสร้าง  รันเวย์ของเครื่องบิน และสามารถบริหารจัดการพื้นที่ส่วนที่เหลือมาใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพทาง ธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จึงได้มีการปรับคอนเซ็ปต์โครงการเป็น “Koh Tao Lifestyle Complex” ศูนย์รวมโรงแรม และกิจกรรมท่องเที่ยวครบวงจร บนพื้นที่กว่า 200 ไร่บนเกาะเต่า ภายในโครงการประกอบด้วย โรงแรม, ลานจอดโดรนโดยสาร, พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง, ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัย (Adventure)  โดยพร้อมเปิดรับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่โครงการ

ล่าสุด บริษัทฯ ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับ Ehang Intelligence Equipment ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลก ด้านโดรนโดยสาร (Passenger Drone) และเทคโนโลยีด้านการบินจากประเทศจีน เกี่ยวกับการพัฒนาโดรนโดยสาร เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำมาเปิดให้บริการบนเกาะเต่าเป็นครั้งแรกในไทย โดยขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาโครงการร่วมกัน

อนึ่ง Ehang เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการบินจากประเทศจีน ก่อตั้งในปี 2014 และเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ NASDAQ ในสหรัฐอเมริกา ในปี 2019 โดย Ehang เป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านโดรนโดยสารแบบ eVTOL (electric Vertical Take-Off and Landing) และเป็นผู้นำเทคโนโลยี UAM (Urban Air Mobility) ซึ่งเป็นการเคลี่อนย้าย ทางอากาศในเมือง คือ การใช้เครื่องบินขนาดเล็กที่มีระบบอัตโนมัติสูง เพื่อขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าที่ระดับความสูง ต่ำกว่า ในเขตเมืองและชานเมือง ซึ่งโดรนโดยสารของ Ehang เป็นโดรนโดยสารที่สามารถบรรทุกผู้โดยสาร รวมถึงใช้  ในการขนส่ง  ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนด้านการพัฒนานวัตกรรม และได้มีการทดสอบการใช้งานในพื้นที่นำร่องหลายพื้นที่ของประเทศจีน และได้มีความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ หลายแห่งในการทดสอบและขยายการใช้งานในหลายประเทศ ทั้งแบบไร้นักบินและแบบมีผู้โดยสารจริง ซึ่งได้มีการ ทดสอบการบินมากกว่า  66,000 เที่ยวบิน ใน 19 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศไทย เม็กซิโก บราซิล สเปน ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา เป็นต้น

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เตรียมจัดตั้งบริษัท ภายใต้ชื่อบริษัท “เต่า เอเอเอ็ม” / “TAO AAM” (Autonomous Air Mobility) เพื่อ ดำเนินธุรกิจให้บริการอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการท่องเที่ยวและการขนส่ง โดยร่วมลงทุนกับบริษัท แอเรียล ซี เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งบริษัทฯ จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 51% และคาดว่าการจะจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2568

สำหรับผลประกอบการล่าสุดในงวดไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 0.16 ล้านบาท มีรายได้อยู่ที่ 35.95 ล้านบาท ลดลง 8.80 ล้านบาท หรือ 19.66% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2567 ที่มีรายได้รวม 44.74 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารอยู่ที่ 21.48 ล้านบาท ลดลง 3.35  ล้านบาท หรือ 13.50% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่ 24.83 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯ สามารถควบคุมการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 9.77 ล้านบาท ลดลง 3.58 ล้านบาท หรือ 26.80% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2567 ที่ 13.35 ล้านบาท จากการทยอยชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ทำการชำระคืนหุ้นกู้ ที่ครบกำหนดครบถ้วนทั้งหมดแล้ว เมื่อเดือน มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon