อาหารไทยขึ้นโต๊ะเจรจา ส่งซิกดันราคาไปต่อ

157

มิติหุ้น-สมาคมอาหารตีปีกขึ้นโต๊ะเจรจาลดกำแพงภาษีทรัมป์ หวังรัฐรุกต่อรองลดภาษีป้องกันเสียเปรียบคู่แข่ง นำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการเปราะบาง โดยเฉพาะหมูกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วางยุทธศาสตร์ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย เน้นมูลค่าแทนขายเป็นยกกอง หวังหุ้นกลุ่มอาหารสดใสไปต่อได้ ตั้งเป้ารายได้เพิ่มจาก 1.6 ล้านล้านบาท เป็น 2 ล้านล้านบาทในปี 2570

ดร. องอาจ กิตติคุณชัย นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) เปิดเผยว่าถึงการหารือกับกรรมการภายหลังการมารับตำแหน่งจะได้วางวิสัยทัศผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเติบโตในเชิงคุณภาพ จากเดิมที่ขายในเชิงปริมาณ (Commodity) ส่งเป็นเทกองไม่มีแบรนด์หันไปพัฒนาด้านแบรนด์และสร้างมูลค่ามากขึ้น เพื่อหนีการแข่งขันทางด้านราคากับจีน อินเดีย และเวียดนามเป็นต้น ซึ่งการเจรจาล่าสุด ใน 5 ข้อเสนอของรัฐบาลไทย ข้อแรก มีการยกอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อยู่ในเงื่อนไขของการเจรจา  

 

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงในการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรบางอย่างที่ต้องมีการปกป้องสินค้าภายในประเทศให้ดี ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนคนในระบบทั้งผู้ประกอบการ และยังรวมถึง เกษตรกรกว่า 32 ล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ เกษตรกรเลี้ยงข้าวโพดอาหารสัตว์ และหมู ที่กังวลผลกระทบหากมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ

 

หุ้นกลุ่มอาหาร ฝ่าแรงกดดันไปต่อ

 

โดยสินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐเป็นตลาดหลัก และมีมูลค่าโดยรวมการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่มีความสำคัญประกอบด้วย สับประรด ส่งออกไปสหรัฐ 30% มะพร้าวส่งออกไปสหรัฐ 50% รวมถึง ทูน่า และข้าวโพดหวาน เป็นสิ่งที่จะต้องวางยุทธศาสตร์การเจรจาเพื่อป้องกันสูญเสียตลาด 

 

“คาดหวังว่าการเจรจาจะเกิดผลในทางที่ดี เพราะอาหารเป็นพื้นฐานปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ่จึงมีความสำคัญ ในการที่สหรัฐจะพิจารณาลดกำแพงภาษี ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าจะไม่มีการลดภาษีได้ต่ำกว่าคู่แข่ง 

 

ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มธุรกิจอาหารมีหลายตัวที่คาดหวังว่าจะยังมีสัญญาณที่ดี สามารถเติบโตและแข่งขันได้ ท่ามกลางความผันผวน โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทที่มีศักยภาพแม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากลูกค้าเกี่ยวกับการขอลดราคาในช่วงที่มีการเจรจาต่อรอง แต่เชื่อว่าอาหารไทยยังไปได้ต่อ เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้บริโภคมีความต้องการ จึงจะสามารถหาข้อยุติที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและลูกค้า 

 

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในปี 2568 – 2570 ท่ามกลางความท้าทาย ที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการค้าของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารไทย จะต้องเร่งปรับตัวและกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจากสถิติการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 มีมูลค่า 1,638,445 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.3 %  ถือเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของสินค้าอาหาร ด้วยความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร โดยแผนงานของสมาคมฯ ในสมัยการบริหารนี้จะได้มุ่งเน้นนโยบายนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร (Food Innovation & Technology) พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตให้ขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อดันมูลค่าการส่งออกให้ได้ถึง 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 

 

วางยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ยกระดับอาหารไทยระดับโลก 

 

ดร.องอาจ กล่าวว่า เบื้องต้นได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ด้านได้แก่ 1.)  การสร้างความแตกต่างและนวัตกรรม ที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม และใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  2.) การขยายตลาดและกระจายความเสี่ยง เน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ กระจายแหล่งวัตถุดิบและตลาดส่งออก ตลาดเป้าหมาย 3.) การเสริมสร้างความยั่งยืนและรับผิดชอบ หรือ ESG ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่การผลิต  4.) การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ได้แก่ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนใน R&D เพื่อพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารจากพืช และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และ 5.)  การสร้างความร่วมมือและผลักดันนโยบาย ที่จะนำเสนอประเด็นเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม 

 

“กรณีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังมีต้นทุนสูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะจีน และสหรัฐฯ ขณะที่สิงคโปร์กำลังพัฒนาอาหารอนาคต เช่น โปรตีนทางเลือก ทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมเพื่อรักษาส่วนแบ่ง ไม่รวมถึงระเบียบสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน ซึ่งเพิ่มต้นทุนให้ผู้ส่งออก กฎหมายสิ่งแวดล้อมและ Carbon Tax ในตลาดยุโรปที่เพิ่มภาระผู้ผลิตในอนาคต”