ทรู คอร์ปอเรชั่น ผ่านการรับรองมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม มอก.9999 ด้วย 4 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง คน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนองค์กรดิจิทัลต้นแบบที่เติบโตอย่างยั่งยืน

12

มิติหุ้น – อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน คือ “แนวทางการบริหารจัดการองค์กรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการมีความรู้และคุณธรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดการประเมินมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือ มอก.9999 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้องค์กรบริหารจัดการและดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตอย่างยั่งยืน และมีความสุข ตลอดจนมีภูมิคุ้มกันที่ดี ล่าสุด…บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (ขวา) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร ได้รับมอบประกาศนียบัตรการรับรองมอก.9999 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โดยนายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร (ซ้าย) ผู้อำนวยการ สรอ. ในงาน “น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง สู่มาตรฐานแห่งความยั่งยืน มอก.9999 ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้น ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค

ถอดบทเรียน ทรู ผ่าน 4 ด่าน มอก.9999

ทรู คอร์ปอเรชั่น ผ่านกระบวนการประเมิน มอก. 9999 ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ ตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลได้ ตลอดจนนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่างๆ  ตามเกณฑ์ข้อกำหนดของมอก.9999 ครอบคลุมใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่

  1. ด้านบุคลากร – มุ่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล AI

เพื่อส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ และทักษะในโลกยุคดิจิทัล ทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าว่า พนักงาน 1 คน จะได้รับการอบรมด้านดิจิทัล AI และเทคโนโลยีอยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อคนต่อปี ภายในปี 2573 จากผลการดำเนินงานในปี 2567 พบว่าพนักงานมีจำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ชั่วโมงต่อคนต่อปี ซึ่งบรรลุเป้าหมายเกิน 100% จากที่กำหนดไว้

  1. ด้านเศรษฐกิจ – ขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วไทย

ทรู มีแผนครอบคลุมเครือข่าย 5G ที่ 95% ทั่วประเทศ ภายในปี 2573 โดยผลการดำเนินงานในปี 2567 เครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 93% ตอกย้ำความพร้อมเครือข่ายเพื่อให้บริการอย่างทั่วถึง เพิ่มโอกาสเศรษฐกิจในท้องถิ่น ชุมชนห่างไกลได้เข้าถึงตลาดออนไลน์ ขายสินค้าเกษตรและชุมชนได้กว้างยิ่งขึ้น อีกทั้ง ส่งเสริมธุรกิจ SME ได้เติบโตผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยี IoT ข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ในการวางแผนเพาะปลูก ตลอดจนโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมใช้เครือข่ายเชื่อมต่อสื่อสารและควบคุมระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

  1. ด้านสังคม – สร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม

ในฐานะเทคคอมปานีไทย ทรู สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์ต่างๆ ของทรูปลูกปัญญาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งเว็บไซต์ รายการทีวี และแอปพลิเคชัน อีกทั้งยังร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนาการศึกษา เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยกว่า 10,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ยุคดิจิทัลอย่างเท่าเทียม ผ่านความร่วมมือโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED รวมถึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หรือ Learning Center ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์ม VLEARN สนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น

  1. ด้านสิ่งแวดล้อม – พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทรู เดินหน้าบริหารจัดการพลังงาน ผ่านโครงการต่างๆ โดยในปี 2567 ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ที่สถานีฐาน และดาต้าเซ็นเตอร์ สะสม 10,416 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 35,216 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14,051 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 165,039 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 65,850 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ทั้งนี้ ทรู ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายของ Science Based Targets initiative (SBTi) Near-Term Target ภายในปี 2573 ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานใน Scope 1 และ Scope 2 ลง 42% รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน หรือใน Scope 3 ลง 25% จากปีฐาน 2563

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการบริหารจัดการที่ทันสมัยและใช้ได้จริงกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจอย่างเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายอยู่ตลอดเวลา ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะเทคคอมปานีไทย ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางแห่งความยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ ได้นำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มอก.9999 มาปรับใช้ เพื่อวางกลยุทธ์ทั้งในระดับองค์กรและระดับปฏิบัติการ ช่วยให้องค์กรได้เรียนรู้การปรับตัว วางแผนอย่างรอบคอบ ใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณ โดยตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและข้อมูล ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกระจายความเสี่ยง สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาองค์กรจากภายใน พร้อมแบ่งปันคุณค่าสู่สังคมภายนอกได้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon