มิติหุ้น – นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์หัวข้อ China Strategy ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2568 ตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นตลาดที่ทําผลงานได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ยังคาดว่าดัชนี Hang Seng ยังมี upside เล็กน้อยในครึ่งปีหลัง 2568 เพราะแรงหนุนจากสภาพคล่อง ทั้งจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศและอุปสงค์จากนักลงทุนจีน (southbound demand) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ของ CGSI มองว่า การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง อีกทั้ง Fed มีแนวโน้มจะกลับเข้าสู่วงจรการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง น่าจะกระตุ้นให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) ซึ่งตลาดหุ้นจีนมีน้ำหนักมากที่สุดในดัชนี MSCI EM Index จึงได้เปรียบ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่แล้ว ตลาดหุ้นจีนมีความโดดเด่นในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม “soft tech” และ “biotech”
นอกจากนี้ ยังพบว่าเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนจีนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นฮ่องกง (southbound investor) ในครึ่งปีแรก 2568 คิดเป็น 91% ของเงินลงทุนในปี 2567 และโมเมนตัมนี้น่าจะยังคงอยู่ เพราะมีปัจจัยหนุนจากการประเมินมูลค่าที่น่าสนใจและอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงกว่าการลงทุนใน A-share อีกทั้งมีตัวเลือกสำหรับการจัดสรรสินทรัพย์ค่อนข้างจำกัดสำหรับนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมเงินทุน
อย่างไรก็ตาม การมีหุ้น IPO ใหม่เข้าตลาดน่าจะช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพของตลาดและความหลากหลาย ซึ่งมองว่าจะทำให้เกิดความคิดเห็นเชิงบวกระหว่างหุ้นใหม่และผลงานของตลาดรองในระยะกลางถึงระยะยาว
นักวิเคราะห์ของ CGSI ยังคงเป้าดัชนี Hang Seng สิ้นปี 2568 อยู่ที่ 26,300 จุด เท่ากับเป้า P/E ล่วงหน้า 11.3 เท่า (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 0.5SD) หรือมี upside 8.3% จากระดับในปัจจุบัน โดยมองว่าการที่จีนและสหรัฐฯสงบศึกทางการค้าชั่วคราวก็ยังคงมีความเปราะบาง และสถานการณ์อาจตึงเครียดมากขึ้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกมาตรการจำกัดการจัดส่งชิ้นส่วนสำคัญโดยมุ่งเป้าไปยังห่วงโซ่อุปทานของอีกฝ่าย อย่างไรก็ตามคาดว่าเสียงรบกวนจากความตึงเครียดทางการค้าจะมีผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นน้อยลง และดัชนีน่าจะกลับมาปรับตัวขึ้นในช่วงปลายของครึ่งหลังปี 2568
ขณะเดียวกัน มองว่าแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในครึ่งปีแรก 2568 จะมาจากปัจจัยที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเป็นหลัก ได้แก่ การเร่งส่งออกสินค้า, มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนในภาคการผลิต แต่คาดว่าจะเกิดช่องว่างทางนโยบาย (policy vacuum) ในไตรมาส 3/2568 เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายอาจมองว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมในระยะสั้น แต่อาจมีการใช้นโยบายที่เด็ดขาดมากขึ้นช่วงเดือนก.ย./ต.ค.2568 เพื่อรักษาโมเมนตัมที่อาจอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับปีที่แล้ว
โดยสถานการณ์ดังกล่าว น่าจะทำให้ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นช่วงปลายปี จากแรงขับเคลื่อนด้านนโยบาย จึงเชื่อว่าผู้กําหนดนโยบายจะหันไปใช้ “เครื่องมือทางการเงิน” คือการปล่อยกู้แบบมีหลักประกันตามนโยบาย Pledged Supplemental Lending หรือ PSL ที่ริเริ่มขึ้นช่วงการประชุมคณะกรรมการ Politburo ในเดือนเม.ย.2568 เพื่อลดแรงกดดันขาลง โดยน่าจะใช้วงเงินประมาณ 5 แสนล้านหยวน
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ CGSI คาดการณ์ว่า real GDP ของจีนจะขยายตัวแตะ 5.1% yoy ในปี 2568 แต่ nominal GDP น่าจะขยายตัวเพียง 4.1% yoy เท่ากับมี GDP deflator ประมาณ -1.0% ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด ดังนั้นในสภาวะที่เรียกว่า “neijuan” หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เกิดการพัฒนานี้ การจะทำให้ผลกำไรเติบโตอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบางอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรง
นักวิเคราะห์ของ CGSI จึงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ “barbell strategy” ด้วยการจัดพอร์ตให้มีทั้งหุ้นปันผลสูงที่ทำกำไรสม่ำเสมอและหุ้นเติบโตสูงที่ ROE มีโอกาสฟื้นตัว โดยเชื่อว่าบริษัทที่สามารถเพิ่ม ROE ได้ด้วยการผสมผสานกลยุทธ์เหล่านี้ ได้แก่ การซื้อหุ้นคืนอย่างเป็นระบบ, การควบคุมต้นทุนและ/หรือการลดแผนที่มีผลขาดทุน, การขยายธุรกิจไปต่างประเทศเพื่อกระจายแหล่งรายได้และรุกตลาดที่มีมาร์จินสูงกว่า, มีกลยุทธ์การสร้างรายได้ที่ชัดเจนสําหรับเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI LLMs, ยานวัตกรรม และมีโมเดลธุรกิจที่เน้นตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตที่ไม่เหมือนใคร เช่น การบริโภคเชิงประสบการณ์หรืออารมณ์ พร้อมด้วยอำนาจการต่อรองราคา
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon