ศึกใน-ศึกนอก ผ่าทางออกประเทศไทย

105

มิติหุ้น – ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้งจาก “ศึกนอก” คือสงครามการค้าโลก โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา และ “ศึกใน” คือความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว หากไม่มีแนวทางรับมือที่ชัดเจนและทันท่วงที ประเทศไทยอาจเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง

ศึกนอก: สงครามการค้ากับสหรัฐฯ และเวียดนาม

     หลังจากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนาม โดยให้เวียดนามยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมจัดเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้า ‘ส่งผ่าน’ จากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น และไทยในอัตราสูงถึง 35-36% ส่งแรงสะเทือนต่อระบบการค้าระหว่างประเทศทันที

ผลกระทบกับไทย

     นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เตือนว่า หากไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในระดับ 36% จะกระทบภาคส่งออกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรแปรรูป โดยคาดว่าความเสียหายอาจแตะ 8-9 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ไทยได้ส่งข้อเสนอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐหลายพันรายการ เพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้าจากฝั่งสหรัฐฯ และหวังจะเจรจาให้อัตราภาษีอยู่ที่ระดับเดียวกับเวียดนาม (ประมาณ 20%) ซึ่งข้อเสนอแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ ต้องการ เช่น การเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด

ทางออกประเทศไทย : จากนี้ต้องกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก โดยเร่งทำ FTA (เขตการค้าเสรี) กับประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ควบคู่ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้ากับคู่ค้าเอเชีย ลดการพึ่งพา USD ใช้กลไก WTO และ RCEP อย่างเข้มข้น

ศึกใน: การเมืองไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

     สถานการณ์ล่าสุดในปัจจุบัน การเมืองไทย ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง หากไม่มีความชัดเจนใน 3 เงื่อนไขหลัก ได้แก่

  • รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ
  • งบประมาณแผ่นดินปี 2568 ผ่านวาระ 3
  • ไม่มีการยุบสภาฯ ภายในปีนี้

     หากไม่เป็นไปตามนี้ ความสามารถในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกรั้งไว้ และอาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า เสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 1.5%

โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า หากมีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าในไตรมาส 3/68 และต่ำกว่า 35% จะเกิด “ภาวะเศรษฐกิจชะงัก” (economic stagnation) ในไตรมาสสุดท้ายของปี

ขณะที่นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า หากจำเป็นต้องยุบสภา ควรรอให้ พ.ร.บ. งบประมาณ 2569 ผ่านก่อน แล้วค่อย “ยุบสภาฯ” จัดการเลือกตั้งต้นปี 2569 เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

ทางออกประเทศไทย : คงต้องวางแนวทางฟื้นเสถียรภาพการเมือง และเศรษฐกิจ จากหลายๆ ฝ่าย มองว่า การสื่อสารต้องมีความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจ รวมทั้งรัฐบาลควรประกาศ Roadmap ทางเศรษฐกิจ 6 เดือนข้างหน้าอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติ

“หากประเทศไทยอยู่ท่ามกลางวงล้อมของแรงกดดันภายนอกและความไม่แน่นอนภายใน หากไม่เร่งวางกลยุทธ์เจรจาทางการค้า และฟื้นเสถียรภาพทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศอาจต้องเผชิญภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อยิ่งกว่าเดิม”

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon