สสส. จับมือ ศวอ. จุฬา /สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. มุ่งขับเคลื่อนการศึกษา ถอดบทเรียนการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช

15

มิติหุ้น – ผศ.ดร.วีระชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมาย ดร.พัชทรา  มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน  ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อดำเนินงานโครงการ “การศึกษาและถอดบทเรียนการดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช” กับ นายไพสิฐ  พาณิชย์กุล  ผู้อำนวยการ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน ( พฤษภาคม  2568 – กรกฎาคม  2569)   โดยมี ดร.ภูวษา ชานนท์เมือง นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. เป็นหัวหน้าโครงการ และ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

ความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์การดำเนินงาน ดังนี้
1.เพื่อถอดบทเรียนและรวบรวมองค์ความรู้ ในการบริหารจัดการพื้นที่เขตแกนกลางของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสสะแกราช ด้านการควบคุมไฟป่า ประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย
2.ติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ เชื่อมโยงกับคุณภาพอากาศในรูปปฐมภูมิและทุติยภูมิในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช
3.สร้างภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการนำไปใช้ประโยชน์

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการ

1) นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม วิชาการ และองค์ความรู้ ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
2) การพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยี ระบบเตือนภัย ระบบเฝ้าระวัง รวมถึงการแสดงผล การจัดการมลพิษ และขยะมูลฝอยในพื้นที่ศึกษา (พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช)
3) การสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย ฝึกอบรม หรือดำเนินการให้มีการประชุมเกี่ยวกับการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการ

อนึ่ง พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของไทย ในปี พ.ศ. 2519  ปัจจุบันมีเนื้อที่ 1,037,167 ไร่
มีบทบาทภารกิจหลัก ดังนี้
1) ด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่นบนฐานของความยั่งยืน
3) การสนับสนุนการสร้างความรู้
4) การศึกษาวิจัยและการบริหารจัดการองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
6) ก่อให้เกิดผลผลิตงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศ

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon