มิติหุ้น – รายงานผลสำรวจฉบับใหม่ของอีวายชี้ว่า บริษัทที่ผสานความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์หลัก มีความมั่นใจในแนวโน้มธุรกิจปีหน้ามากกว่าบริษัทที่ดำเนินงานแบบแยกส่วนถึง 40%
รายงาน EY Long-Term Value and Corporate Governance Survey ฉบับที่ 5 เน้นย้ำถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อภาคธุรกิจในการเร่งให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน พร้อมชี้ถึงความจำเป็นในการบูรณาการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างคุณค่าทางธุรกิจที่จับต้องได้
วิไลพร อิทธิวิรุฬห์ หุ้นส่วนและหัวหน้าส่วนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน อีวาย ประเทศไทย กล่าวว่า “การทำให้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจทางธุรกิจ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร แต่ยังวางรากฐานสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย หัวใจสำคัญคือ ความยั่งยืนต้องเป็นแกนหลักของกลยุทธ์ธุรกิจ ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า”
รายงานการสำรวจระบุว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั้งนักลงทุนและกลุ่มนักเคลื่อนไหว โดย 91% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจรายงานว่าได้รับแรงกดดันจากนักลงทุนให้ยกระดับความพยายามด้านความยั่งยืน ขณะที่ 78% เผชิญกับแรงกดดันในลักษณะเดียวกันจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว ขณะที่การเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ยังเป็นความกังวลสำคัญ โดยมากกว่าหนึ่งในสาม (39%) ของผู้ตอบแบบสำรวจเปิดเผยว่าเคยถูกสื่อวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพยายามด้านความยั่งยืนที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 6% ในกลุ่มบริษัทที่มีกลยุทธ์ความยั่งยืนแบบบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบ
องค์กรส่วนใหญ่ยังคงดำเนินงานด้านความยั่งยืนแบบแยกส่วน รายงานยังชี้ถึงกลุ่มบริษัทผู้บุกเบิกที่เรียกว่า “ผู้บูรณาการความยั่งยืน” (Sustainability Integrators) ซึ่งประสบความสำเร็จในการผสานกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการดำเนินงานขององค์กรอย่างแท้จริง
บริษัทในกลุ่มนี้มีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งขึ้น สามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมต่อสังคมแวดล้อม นอกจากนี้ พวกเขาระบุว่าคณะกรรมการบริษัทมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนมากกว่าบริษัทอื่นถึง 1.5 เท่า
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 27% ของธุรกิจที่เข้าร่วมการสำรวจเท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มนี้ ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ (55%) ยังคงแยกกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนออกจากกลยุทธ์ทางธุรกิจ หรือบางบริษัทยังไม่มีแม้กระทั่งแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเลย
โครงการด้านความยั่งยืนมีแนวโน้มถูกตัดลดงบประมาณก่อน บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการสำรวจ (57%) ระบุว่า หากจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณ โครงการด้านความยั่งยืนมักเป็นเป้าหมายแรกที่ถูกตัดก่อนโครงการทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน 39% ของบริษัทเห็นว่า ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายรองมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับเป้าหมายเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียง 2% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่ม Sustainability Integrator เท่านั้น ที่มองว่าความยั่งยืนมีความสำคัญน้อยกว่าเป้าหมายเชิงพาณิชย์ และมีเพียง 4% ที่ระบุว่าจะปรับลดโครงการด้านความยั่งยืนก่อนโครงการทางธุรกิจหากเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ กว่าหนึ่งในสิบ (94%) ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่ม Sustainability Integrator ยังระบุว่า คณะกรรมการบริษัทมีความสามารถในการอนุมัติงบลงทุนสำหรับโครงการด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ดำเนินงานแบบแยกส่วนมีเพียงไม่ถึงหนึ่งในสาม (28%) เท่านั้นที่รายงานในลักษณะเดียวกัน
“ธุรกิจจำเป็นต้องเร่งผนวกปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการดำเนินงานโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ การดำเนินงานด้านความยั่งยืนไม่ใช่เพียงเพื่อเจตนาที่ดีเท่านั้น แต่หมายถึงการมองเห็นประโยชน์ทางธุรกิจที่จับต้องได้ และพร้อมลงทุนอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทที่กล้าดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง จะไม่เพียงเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ แต่ยังเสริมความมั่นใจในการเติบโตในอนาคตด้วย” วิไลพร กล่าวเพิ่มเติม
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กรที่บูรณาการด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง อีวาย ขอแนะนำ 5 แนวทางปฏิบัติสำคัญ ดังนี้:
- ส่งเสริมความเป็นเอกภาพของคณะกรรมการและผู้บริหารในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านความยั่งยืน
- ปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันในการดำเนินพันธกิจด้านความยั่งยืนทั่วทั้งองค์กร
- เสริมสร้างให้ทุกหน่วยงานเกิดความเข้าใจในประโยชน์และข้อได้เปรียบเชิงพาณิชย์ของการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืน
- ลงทุนเชิงรุกในโครงการด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการบูรณาการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้เทคโนโลยีเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนแบบบูรณาการ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon