ลงจริง หรือ แค่ปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ ?

175

ลงจริง หรือ แค่ปรับฐานเพื่อขึ้นต่อ ?

สวัสดีครับท่านนักลงทุนทุกท่าน จำกันได้ว่าเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเรายังดีใจกับ SET index ที่พุ่งทะลุระดับ 1,800 จุด และทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 1,848 จุด ทุบสถิติที่เคยทำไว้เมื่อ 40 ปีก่อนที่ระดับ 1,789 จุดได้อย่างง่ายดาย แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกับแตกต่างโดยสิ้นเชิงเมื่อก้าวเข้าสู่เดือน ก.พ.เพราะเปิดตลาดมาเพียง 4 วันทำการ SET index กลับร่วงแรงกว่า 80 จุด โดยมีจุดเริ่มต้นจากตลาดหุ้นของสหรัฐที่ร่วงแรงกว่า 1,840 จุด หรือ 7%  ภายในเวลาเพียง 2 วัน เพราะกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย จากแนวโน้มของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นในไม่ช้า หลังจากค่าจ้างต่อชั่วโมงแรงงานโดยเฉลี่ยของสหรัฐในเดือน ม.ค.ปรับตัวขึ้น 2.9% เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 9 ปี

แน่นอนครับความผันผวนที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนกำลังมึนงง และกำลังอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น พร้อมกับมีคำถามต่างๆตามมามากมายแต่คำถามที่เริ่มได้ยินกันหนาหูขึ้นก็คือ “มันจะเกิดวิกฤติหรือเปล่า” สงสัยกันใช่มั๊ยครับ ว่าคำถามนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ลองนึกดูสิครับ ปีนี้คือปี 2018 แล้ววิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งหลังสุด คือ วิกฤติซับไพร์ม หรือ จะเรียกอีกอย่างว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ของสหรัฐซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ซึ่งนับเวลาจากวิกฤติครั้งนั้นมาจนถึงปีนี้ก็ 10 ปี พอดีซึ่งมันไปประจวบเหมาะกับคำพูดที่ว่า “ทุก10 ปีจะเกิดวิกฤติ” นั่นเอง

ผมว่าเราอย่าพึ่งไปคิดอะไรกันมากเลยครับ ทางที่ดีเราควรตั้งสติแล้วกลับมามองกันที่พื้นฐานกันดีกว่าว่ามันถึงจุดที่เราต้องกังวลกันหรือยัง โดยเริ่มจากพื้นฐานของเศรษฐกิจจะเห็นว่าหลายประเทศประกาศตัวเลข GDP โตวันโตคืน หลายประเทศขยายตัวสูงสุดในรอบหลายปี อาทิ GDP ไตรมาส 3/17 ของสหรัฐขยายตัว 3.3% สูงสุดในรอบ 3 ปี, GDP ไตรมาส 3/17 ของยูโรโซนขยายตัว 2.6% สูงสุดในรอบ 20 ปี และ GDP ไตรมาส 3/17 ของไทยขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นอีกหนึ่งดัชนีที่ใช้บ่งชี้ถึงความร้อนแรงของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ (PCE price Index ของอเมริกาเดือนธ.ค.อยู่ที่ 1.7% ยังต่ำกว่า 2% , เงินเฟ้อของยูโรโซนเดือน ม.ค.อยู่ที่ 1.3%ต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อยูโรโซนที่ 2%, และเงินเฟ้อของไทยเดือน ม.ค.อยู่ที่ 0.68% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบงก์ชาติที่ 1-4%) โอเคหลายคนอาจจะแย้งว่าก็เศรษฐกิจที่โตดีนี่แหละมันจะเร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในที่สุดและจะทำให้ฟองสบู่แตก ประเด็นนี้ผมว่ามันเร็วเกินไปที่เราจะไปสรุปกันแบบนั้น

ดังนั้น เรามองว่าการที่ดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนในรอบนี้เป็นแค่เพียงการปรับฐาน เพื่อรอปัจจัยบวกใหม่ หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นคาดหวังเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดีไปแล้ว ประกอบกับความกลัวในเรื่องเงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ ทำให้แนวโน้มการปรับฐานอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อรอพิสูจน์ว่าสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังไว้เป็นอย่างที่คาดหรือไม่ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ของประเทศต่างๆ และ EPS ของบริษัทจดทะเบียน เช่นเดียวกับสิ่งที่นักลงทุนกลัวคือเงินเฟ้อ หากท้ายที่สุดแล้วเงินเฟ้อไม่ได้พุ่งขึ้นแรงจนน่าวิตกจะช่วยให้นักลงทุนคลายกังวลและดึงเม็ดเงินกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นกันอีกครั้ง

โดย บล.กรุงศรีอยุธยา