GPSC มั่นใจปี 61 รายได้โตกระโดด ลุยขยายลงทุนผลิตไฟฟ้าให้กลุ่ม ปตท.  รุกพลังงานน้ำในลาว คาดได้ข้อสรุปปีนี้

289

มิติหุ้น- GPSC มั่นใจปี 61 รายได้โตกระโดด หลังรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้า 6 โครงการ 1,530 เมกะวัตต์ ลุยขยายลงทุนผลิตไฟฟ้าให้กลุ่ม ปตท.  รุกพลังงานน้ำในลาว คาดได้ข้อสรุปปีนี้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC โดยนายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า คาดปี 2561จะมีกำไรดีขึ้น ขณะที่รายได้รวมจะเติบโตก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 3,174 ล้านบาท รายได้รวม 21,289 ล้านบาท

เนื่องจากในปีนี้จะรับรู้รายจากโรงไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิตทั้งหมด 6 โครงการกำลังการผลิต 1,530 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโครงการไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ 2 โครงการ บางปะอินโคเจนเนอเรชั่น 2 โครงการ โรงไฟฟ้านวนคร1 และโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น1 โครงการ และในปี 2563 จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เป็น 1,922 เมกะวัตต์ รวมโรงไฟฟ้าไซยะบุรี และโรงไฟฟ้าน้ำลิก1 ที่จะ COD ปี2562

ขณะเดียวกัน GPSC ยังเตรียมขยายลงทุนโครงการใหม่ยังต่อเนื่องโดยเน้นการลงทุนตามกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน โรงกลั่นในพื้นที่เขตเศรฐกิจพิเศษ (EEC) ราว 1,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน GPSC อยู่ระหว่างพิจารณาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในไทยหลายรายเสนอขายกิจการ พร้อมมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนผลิตไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเมียนมา 2-3 แห่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาการลงทุนพลังงานน้ำขนาดเล็กใน สปป.ลาว รวมทั้งสนใจร่วมลงทุนพลังงานน้ำ 1,400 เมกะวัตต์ที่หลวงพระบางกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งทางCK ก็ได้เข้ามาเจรจาให้ร่วมลงทุนแล้วอยู่ระหว่างการพิจารณา

สำหรับการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ปีนี้ตั้ง 10 สถานีจากปีก่อนลงทุนแล้ว 2 สถานี ขณะความร่วมมือกับบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) พัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน หรือเอ็นเนอร์จีสตอร์เรจ และพัฒนาระบบเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือระบบสมาร์ทกริดนั้นยังคงเป็นไปตามแผนกำลังการผลิต เบื้องต้น 50 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นนวนครเฟส 2 ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินก่อสร้างปีนี้

ส่วนความคืบหน้าลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอร์รีกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ยังคงเป็นไปตามแผนเริ่มก่อสร้างปีนี้เดินเครื่องปลายปี 2562 งบลงทุนในเฟสแรก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์อาว โดยอยู่ระหว่างเลือกพื้นที่สร้างโรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้งนี้ยังได้เตรียมงบลงทุนปีนี้ 2,000 ล้านบาทในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยยังไม่รวมงบลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่