อุณหภูมิการค้าโลกคุกรุ่น ค่าเงินผันผวนรับสงกรานต์

345

ตลาดการเงินโลกประเดิมไตรมาสสองอย่างผันผวน ท่ามกลางกระแสความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาลต่อเศรษฐกิจการค้าโลก โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศข้อเสนอในการเก็บภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าราว 1,300 รายการของจีน ซึ่งเป็นสินค้าทางการแพทย์ การขนส่ง เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม หลังจากนั้น  11 ชั่วโมงต่อมา จีนโต้กลับด้วยการระบุรายชื่อสินค้าของสหรัฐฯ ที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าในจีน ซึ่งรวมถึงถั่วเหลือง เครื่องบิน รถยนต์ เนื้อวัว และเคมีภัณฑ์ แม้ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้แสดงท่าทีสนับสนุนการค้าเสรีก็ตาม

ในขณะเดียวกัน มีสัญญาณแข็งกร้าวมากขึ้นในประเด็นค่าเงินจากฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเราให้ความสนใจไปที่บัญชีประเทศแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะเปิดเผยช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าสหรัฐฯ จะใช้เป็นเครื่องมือกดดันประเทศผู้ส่งออกในเอเชียรวมถึงไทยได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่สหรัฐฯ เคยแสดงท่าทีขอให้ประเทศในภูมิภาคนี้เลี่ยงการทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่าไทยพยายามดูแลการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อไม่ให้บั่นทอนศักยภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อชิงความได้เปรียบด้านราคาของสินค้าส่งออก

เราตั้งข้อสังเกตว่า หลักเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดว่าไทยอาจเข้าข่ายแทรกแซงค่าเงินครบทั้งสามเงื่อนไข คือ มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพี มีการเข้าซื้อเงินสกุลต่างประเทศเกิน 2% ของจีดีพีในรอบหนึ่งปี และมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า  2 หมื่นล้านดอลลาร์นั้น แต่ดูเหมือนจะยังคลุมเครือในเงื่อนไขข้อสุดท้าย ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์บ่งชี้ว่า ในปี 2560 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ตารางด้านล่าง ซึ่งอาจใช้วิธีบันทึกต่างกัน) ส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะท้อนโครงสร้างดุลการค้าและดุลบริการของไทย ขณะที่การเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศโดยธนาคารกลาง น่าจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในบางจังหวะที่เงินบาทเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับสกุลเงินคู่แข่งและคู่ค้า และยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงสิ้นไตรมาส 1/2561 พบว่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 15% เทียบกับดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ข้อกล่าวหาถึงพฤติกรรมการปั่นค่าเงินบาทให้อ่อนลงจึงต้องพิจารณาในบริบทที่ละเอียดมากขึ้น

สำหรับไตรมาส 2 เรามีมุมมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนความระมัดระวังมากขึ้นของตลาดหลังจากที่เงินบาทแข็งค่าทางเดียวในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องวิวาทะด้านการค้าระหว่างประเทศจะเพิ่มความผันผวนต่อค่าเงินเป็นระลอก นอกจากนี้ ในกรณีของจีน เราประเมินว่าอาจเป็นเพียงกลยุทธ์ของสหรัฐฯ เพื่อเจรจาต่อรอง เนื่องจากในที่สุดแล้ว ทรัมป์ย่อมไม่อยากเห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงต่อเนื่องในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะดัชนีตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในมาตรวัดสำคัญ ซึ่งทรัมป์สามารถยกมากล่าวอ้างถึงคะแนนความนิยมในตัวเขาได้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)