คว่ำคัดเลือก กสทช. ชุดใหม่ สะเทือน! หุ้นกลุ่มสื่อสาร – ทีวีดิจิทัล

1876

กรณีที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติลับ คว่ำการคัดเลือก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชุดใหม่ จะส่งผลให้การออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มทีวีดิจิทัล และการประมูลใหม่ 1800 MHZ ล่าช้าออกไปอีก

โดย ดร.พิเชียร อำนวจวรประเสริฐ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกริก ให้ความเห็นว่า ผลที่จะตามมาจากกรณี สนช.คว่ำการคัดเลือก กสทช.ชุดใหม่ มี 2-3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่

กรณีแรก สนช.เกรงว่า ถ้าเลือก กสทช.ชุดใหม่ ตามที่กรรมการสรรหาฯ เสนอมา จะถูกฟ้องร้องอยู่ดี เพราะมีการยื่นคัดค้านผู้ที่ได้รับการสรรหาว่าขาดคุณสมบัตินับสิบคน รวมทั้งมีผู้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อประธาน สนช.โดยตรงอีกด้วย

กรณีที่สอง ให้ กสทช.ชุดเดิมรักษาการแทนไปก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานั่งรักษาการเป็นปี กรณีที่สาม การประมูลคลื่น 1800 MHZ ในตอนแรก มีการวางแผนไว้ว่าจะให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ แต่เมื่อมีการคว่ำการคัดเลือก คงไม่มีการดำเนินแล้ว คงต้องให้ กสทช.ชุดรักษาการดำเนินการไปเลย

            “ผลกระทบที่จะตามมา คือ ส่วนแรกต่อหุ้นกลุ่มสื่อสาร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วงก่อนปิดตลาดของวันที่ 19 เม.ย. ราคาหุ้น ADVANC, DTAC, TRUE อ่อนตัวลง กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มทีวีดิจิทัล ที่รอมาตรการช่วยเหลือ ที่สำคัญคือ การที่ ครม.จะช่วยเหลือทั้งกลุ่มมือถือและทีวีดิจิทัล ถึงตอนนี้คงต้องมาพิจารณากันใหม่” นายพิเชียร ระบุ

ขณะที่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้  ระบุว่า ปัจจัยชี้ขาดทิศทางการดำเนินธุรกิจของ DTAC อยู่ที่การประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นก่อน 15 ก.ย.นี้ หรือไม่ ซึ่งสัมปทานคลื่น DTAC ส่วนใหญ่จะหมดสัญญาลง โดยปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ สนช. จะสามารถโหวตตั้งบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ได้ลงตัวเมื่อไหร่

โดยมองว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้ จะสามารถจัดประมูลได้ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย.61 ถึงม.ค.62 โดยที่โอกาสจะจัดประมูลคลื่นได้ทันภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ มีอยู่ราว 70%

            ด้าน ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บล.บัวหลวง เผยว่า ภายใต้สมมติฐานกรณีที่แย่ที่สุด ได้แก่ ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ได้ทั้ง 7 รายได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หรือ กสทช.ชุดใหม่ ไม่เห็นด้วยกับร่างสรุปข้อสนเทศ (ไอเอ็ม) ของการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz ฉบับใหม่ของ กสทช.ชุดรักษาการ และเริ่มทำร่างไอเอ็มใหม่ทั้งหมด

ประเมินว่า อาจส่งผลให้การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ล่าช้าออกไปหลังจากเดือน ก.ย.2561 นั่นหมายถึงจะต้องมีระยะเวลาเยียวยาหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย.2561  ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว บริษัทยังมีสิทธิในการเข้าใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และคลื่นความถี่ 850 MHz รวมถึงสินทรัพย์สัมปทานไปจนกว่าการประมูลคลื่นความถี่ใหม่จะเกิดขึ้น

ในกรณีนี้ DTAC จะยังคงสามารถให้บริการกับลูกค้าได้ตามปกติต่อไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อาจจะมีความเสี่ยงที่เกียวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ DTAC จะต้องจ่ายให้กับ กสทช. สำหรับการเข้าใช้คลื่นความถี่ทั้ง 2 คลื่นข้างต้น

             นั่นคือบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ แต่ไม่ว่า กสทช.ชุดใหม่จะเกิดช้าหรือเร็ว ย่อมกระทบต่อหุ้นสื่อสารและทีวีดิจิทัลแน่นอน!!

                                                                        “บิ๊กเซ็ต”