ก.พลังงานจ่อล้มแผน “FSRU” ภาคใต้ ดับฝัน PTT ลงทุน

284

มิติหุ้น- รมว.พลังงานยันชี้ภาคใต้ไม่จำเป็นต้องสร้าง “FSRU” รองรับนำเข้า LNG ใช้โมเดลบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชีวมวล300 เมกะวัตต์ 3 จ.ชายแดนใต้เสริมประสิทธิภาพไฟฟ้า เร่งสรุปแผนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนสิ้นปีนี้เปิดโอกาสเอกชนลงทุน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า กระทรวงพลังงาน  โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการใช้ไปจนถึง 5 ปีข้างหน้า ตามการประเมินประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าหลัก และกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นราว 20% ของกำลังผลิตไฟฟ้าในปีหน้า ทำให้ภาครัฐไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้เพื่อแก้ไขปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต

ดังนั้นภาครัฐจึงได้จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ลงทุนขยายสายส่งไฟฟ้าคู่ขนาด4 คู่ เพื่อดึงกำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่

นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลใน 3จังหวัดภาคใต้(ปัตตานี,ยะลา,และนราธิวาส) ปริมาณ 260-300 เมกะวัตต์ ผ่านการจัดตั้งหน่วยใหม่ Regional Power System หรือ RPS ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่บริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ตั้งแต่การผลิต รับซื้อ จำหน่าย จัดส่งไฟฟ้า และควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่และสร้างรายได้ในกับชุมชน โดยหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จภาคใต้ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่ต้องสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ(FSRU) เพื่อนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าอีกต่อไป

ส่วนการจัดทำแผนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลักแล้วนำกำลังผลิตในส่วนที่เหลือใช้ออกมาขายให้กับเอกชนได้ แต่จะต้องมีการนำระบบสมาร์ทกริดและระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เข้ามาใช้รองรับ โดยยืนยันว่า อัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตจะต้องไม่แพงหรือมีแนวโน้มถูกลง จากปัจจุบัน ราคาขายปลีกไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 3.60 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 10 เซนต์ต่อดอลลาร์ ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

www.mitihoon.com