โบรกส่อง KKP-BAY กำไรไตรมาส2 โตสวนกระแสแบงก์ใหญ่

237

มิติหุ้น-บทวิเคราะห์บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส2/2561 ของกลุ่มธนาคารหดตัว 7.4 % จากไตรมาสก่อนหน้า โดยถูกกดดันจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่า KBANK และ SCB กระทบมากที่สุดตามที่ประเมินไว้ในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลต่อกำไรสุทธิ KBANK ลดลง 16 % และ SCB ลดลง 7.8 % จากไตรมาสก่อน ด้าน KTB เราคาดกำไรปรับตัวลง 13.2 % จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว มีเพียง KKP  คาดกำไรเติบโต 3.1 % จากไตรมาสก่อน และ BAY จะเติบโต 1.9 %  โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการสำรองลดลง

อย่างไรก็ตามหากเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโต 6.8 % จากการขยายตัวของสินเชื่อและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมประกันและค่าธรรมเนียมจัดการกองทุน เราคาดว่าธนาคารที่มีกำไรเติบโตเด่นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยปัจจัยบวกดังกล่าว นำโดย KKP เติบโต 31.6 % ,TISCO เติบโต 16.8 %, BAY เติบโต 7.9 % และ BBL เติบโต 7.6 % ด้าน SCB คาดกำไรหดตัว 12 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายลงทุน IT และภาระค่าเสื่อมราคาจากงบลงทุนปีก่อนหน้า ส่วนTMB คาดกำไรลดลง 2 %  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะสินเชื่อเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย และ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)  อ่อนตัวตามการรุกสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ระยะสั้นฝ่ายวิจัยชอบธนาคารขนาดกลาง-เล็ก อย่าง KKP  และ BAY มากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ เพราะได้รับผลกระทบต่อการยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ จำกัด อีกทั้งกำไร ไตรมาส 2/2561 ทั้งสองธนาคารขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาส 1/2561 พร้อมประเมินราคาเป้าหมายปีนี้ของ BAY ที่ 44 บาท/หุ้น และ KKP ที่ ก  80 บาท/หุ้น

ขณะที่แนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปีนี้เราคาดผลประกอบการกลุ่มธนาคารยังคงถูกกดดัน จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าผลกระทบบางส่วนถูกลดทอนด้วยปัจจัยบวกจาก 1. การขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ และสินเชื่อราย่อย 2. ภาระการตั้งสำรองลดลง ตามทิศทง NPL  เริ่มคลี่คลายเป็นผลจากกลุ่มธนาคารเร่งระบายหนี้เสียในช่วง ไตรมาส3-4/ 2560 และการบังคับใช้ IFRS9 อาจถูกเลื่อนออกไป 1-3 ปี และ 3. อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสถูกปรับขึ้นในไตรมาส4/2561เป็นบวกต่อ NIM  ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงมองว่าไตรมาส2นี้จะเป็นช่วงต่ำสุดของปีของ KBANK ประกอบกับราคาหุ้นปรับลดลงจากต้นปี 32.3 % ส่งผลให้ระยะกลาง KBANK เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น

www.mitihoon.com