อดทนกับความผันผวน ทั้งขึ้นและลง

120

ตลาดหุ้นไทยยุติขาลงและกลับสู่การ Sideway ตามที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า และการที่ดัชนี SET index ยืนเหนือแนว 1,710 จุดได้ (เส้นค่าเฉลี่ย 200 วันแบบ EMA ล่าสุดอยู่ที่ 1,707 จุด) ถือว่ามีนัยสำคัญในเชิง Technical analysis อย่างไรก็ดีเราประเมินในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ส.ค.นี้ ตลาดจะอยู่ในช่วงของการผันผวน อาจแกว่งตัวขึ้นสลับลงได้ตลอด โดยมีปัจจัย 2 ประเด็นที่เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดความผันผวนเกิดขึ้น

i) เราเริ่มกลับมากังวลในมุมมองด้าน Valuation ซึ่งล่าสุด Consensus ทยอยปรับลดประมาณการ EPS ของ SET index ลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 109 บาท/หุ้น จากตอนต้นปีที่ราว 110.5 บาท/หุ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น (ผลจาก Fund flow และตลาดคาดหวังว่าที่ประชุม กนง จะทำการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งใน 2H61) ส่งผลให้ Earnings yield gap ถูกกดดันจากทั้ง 2 ทาง (ทั้งตัวตั้ง และ ตัวหาร) การเร่งขึ้นทั้ง 2 ทางลักษณะนี้ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ตลาดจะเกิดการพักฐานได้ในกรณีดังนี้ หากว่า i) อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลไทยยังไม่ชะลอตัวลง และ/หรือ ii) Consensus ยังทำการปรับลดประมาณการฯหุ้นไทย หลังการรายงานผลประกอบการ 2Q61 ที่จะรายงานครบทุกตัวภายในกลางเดือน ส.ค. ดังนั้นเราให้จับตาดู 2 ปัจจัยสำคัญนี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่า “ตลาดจะพักฐาน” (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯยังปรับขึ้น และ/หรือ Consensus ปรับลดประมาณการฯ) หรือ “ตลาดจะ Sideway up” (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ชะลอการปรับขึ้น และ/หรือ Consensus ปรับเพิ่มประมาณการฯ)

ii) ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศที่เคยกดดันตลาดหุ้นไทยและในภูมิภาค อย่างประเด็นสงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน ซึ่งเราประเมินว่าจะมีข่าวในเชิง ลบสลับบวก ออกมาตลอดช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ส.ค.นี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเส้นตายของการบังคับใช้กำแพงภาษี 2 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ ในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ อย่างไรก็ดี เราเคยวิเคราะห์ไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่าราคาหุ้นในตลาดได้ซึมซับข่าวลบนี้ไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศในเอเชีย “น้อยมาก” และผลที่เกิดขึ้นก็เป็นจริงตามคาดคือตลาดไม่ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้สักเท่าไหร่แล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในทางกลับกันตลาดกลับมาคาดหวังการเจรจาระหว่าง จีน – สหรัฐฯ อาจจะเกิดขึ้นได้ตามมา

แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้ง 2 ประเด็นที่กล่าวข้างต้น แต่เราเชื่อว่าช่วงครึ่งหลังของเดือน ส.ค.จะมีข่าวดีออกมากลบข่าวลบบ้าง ได้แก่ การรายงานตัวเลข GDP 2Q61 ของไทย ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจาก 1Q61 (1Q61 โต +4.8%) ดังนั้นเราแนะนำจังหวะตลาดผันผวน ลบสลับบวก จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีกำไรเติบโต / มีสตอรี่การลงทุนที่ชัดเจน ในช่วงที่ตลาดย่อตัวลงมา โดยประเมินกรอบ SET index 1,680 – 1,750 จุด กลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ i) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (กำไรพ้นจุดต่ำสุด + ดอกเบี้ยขาขึ้น) KBANK, BBL, SCB, KTB / ii) กลุ่มค้าปลีก (การบริโภคในประเทศฟื้น + ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง) CPALL, COM7 / iii) กลุ่มนิคมฯ (ธีม EEC) AMATA, WHA / iv) กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี (ราคาพลังงานยืนสูง + Spread บางชนิดยืนสูง) SGP, IVL เป็นต้น

(โดยสุโชติ ถิรวรรณรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)