บาทอ่อน.. ทำไมส่งออกขยายตัวน้อยลง

172

ท่ามกลางปัจจัยลบจากต่างประเทศ แต่ยังมีข่าวดีๆ จากภายในประเทศ ให้หน้าชื่นตาบานกันบ้าง

ต้นสัปดาห์ วันจันทร์ที่ 20 ส.ค.2561 สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลข จีดีพีของไทย ไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 4.8% รวมครึ่งปีแรก ขยายตัว 4.6% เป็นผลให้สภาพัฒน์ฯ ยังคงประมาณการอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไว้ระดับเดิม 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางที่ 4.5%

กลางสัปดาห์ วันพุธที่ 22 ส.ค. กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกของเดือน ก.ค.2561 มีมูลค่า 20,424 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.3% ส่งผลให้ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 146,236 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.6% ขณะที่การนำเข้าในเดือน ก.ค.มีมูลค่า 20,940 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.5% รวม 7 เดือน มีมูลค่า 143,296 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.8%

เดือน ก.ค. ไทยขาดดุลการค้า 516 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นเพราะ “การนำเข้าวิ่งแซงการส่งออก” แต่รวม 7 เดือน ยังเกินดุลการค้า 2,939 ล้านเหรียญสหรัฐ

            แต่ที่น่าแปลก ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นมา “เงินบาทอ่อนค่าลง” เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และช่วงไตรมาส 1/61 แต่การขยขายตัวของการส่งออกในรูปเงินบาท กลับขยายตัวได้น้อยลง

            โดยเดือน ก.ค.61 มีมูลค่า 662,175 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 4.1% ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรก มีมูลค่า 4,625,878 ล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.2% เท่านั้น…เกิดอะไรขึ้น

บาทอ่อนค่าลง แทนที่จะได้ค่าสินค้าเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นว่า ได้เป็นเงินบาท “น้อยลงอย่างมาก” เมื่อเทียบกับการขยายตัวในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ …ตรงจุดนี้ กระทรวงพาณิชย์ คงต้องหาคำตอบให้ได้ว่า เพราะเหตุใด

โดยภาพรวมของปี 2561 กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% แต่ระดับนโยบาย อยากได้มากกว่านั้น อาจถึง 10%

จะได้หรือไม่ ต้องใช้กึ๋นจริงๆ

“บิ๊กเซ็ต”