THAI  เร่งปรับแผนจัดซื้อเครื่องบิน ปรับเส้นทางบิน หาพันธมิตรเพิ่ม ด้าน “ดีดี” วางเป้าหยุดขาดปี 63 หวังล้างขาดทุนสะสมปี 65  คาด Cabin Factor ไม่ต่ำกว่า 80%

84

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. การบินไทย หรือ THAI  โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อหยุดการขาดทุน การบินไทยต้องไปดำเนินการหาพันธมิตรเครือข่ายสายการบินทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึงต้องเร่งปรับแผนจัดซื้อเครื่องบินและเส้นทางบินใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ โดยการจัดซื้อเครื่องบินต้องดูความเหมาะสมกับเส้นทางบินด้วย

“การขาดทุนเพียงแค่นี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการบินไทยยังอยู่ในเส้นทางที่สามารถแข่งขันได้ แต่ต้องสู้ด้วยยุทธศาสตร์การแข่งขันในการเพิ่มรายได้ ซึ่งการเพิ่มรายได้จะต้องเร่งจัดซื้อเครื่องบิน และจัดทำแผนเส้นทางบินใหม่ เนื่องจากการจะเพิ่มรายได้เครื่องบินต้องดีมีประสิทธิภาพ เส้นทางบินต้องสามารถแข่งขันได้ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแข่งขันของสายการบิน” นายสมคิด กล่า

ด้านนายสุเมธ  ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การหยุดขาดทุนของการบินจะต้องเร่งดำเนินการทำการตลาดแบบดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง หาพันธมิตรเครือข่ายสายการบินทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงพันธมิตรที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เช่น บมจ.ท่าอกาศยานไทย หรือ AOT ธนาคารกรุงไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และที่สำคัญคือการจัดซื้อเครื่องบินเสริมศักยภาพฝูงบินให้แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ต้องเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น ธุรกิจครัวการบินไทยต้องดำเนินการขยายการเติบโต รวมถึงการสร้างรายได้จากศูนย์ซ่อมอากาศยาน และดำเนินการลดต้นทุน

ทั้งนี้ การทบทวนปรับแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่และเส้นทางบินใหม่นั้นมั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ก่อน 3 เดือนแน่นอน โดยการจัดซื้อเครื่องบินใหม่อาจจะไม่ใช่แค่ 23 ลำ หรือมูลค่ารวมแค่ 1 แสนล้านบาทตามแผนเดิม เนื่องจากต้องคำนึกถึงความเหมาะสมของเส้นทางบินในแต่ละเส้นทางและการเพิ่มเส้นทางบินด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการบินไทยตั้งเป้าหมายหยุดขาดทุนในปี 2563 หลังจากดำเนินการตามยุทธศาสตร์ และมีรายได้เติบโต 10-15% พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมภายในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันการบินไทยขาดทุนสะสมราว 21,758.50 ล้านบาท ขณะภาพรวมปี 2561 หวังรักษา Cabin Factor ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 80% จากปัจจุบันอยู่เฉลี่ยในระดับ 79%

ส่วนแผนลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ล่าสุดคณะกรรมการการบินไทย (บอร์ด) อนุมัติผลการศึกษาการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) มูลค้าโครงการ 6,000 ล้านบาทโดยการบินไทยถือหุ้น 60% โดยได้ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา คาดว่าจะสามารถจัดทำรายละเอียดการประกวดราคา (TOR) เพื่อจัดหาผู้ร่วมลงทุนได้ภายในปีนี้

www.mitihoon.com