THANI ผลงานร้อนแรงติดลมบน รุกเจาะรถบรรทุกดันสินเชื่อ2.5หมื่นล. (22/04/62)

522

มิติหุ้น – THANI ราคาหุ้นวิ่งร้อนแรง หลังโชว์กำไรไตรมาส 1/62 โตสูงกว่า 30% ที่ระดับ 477 ล้านบาท ผู้บริหารคอนเฟิร์ม ผลงานขยายตัวต่อเนื่องตลอดปี 62 พร้อมดันยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าเป้า 2.5 หมื่นล้านบาท ด้านคุณภาพ NPL ปรับตัวดีขึ้นช่วยลดค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้ โบรกเชียร์ “ซื้อ” เคาะราคาเป้าหมาย 8.30 บาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ราคาหุ้น THANI หรือ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง เมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่นหลังประกาศงบการเงินเฉพาะกิจการในไตรมาส 1/62 สูงถึง 477 ล้านบาท เติบโตกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาหุ้น THANI ทำจุดสูงสุดของวัน ที่ระดับ 6.45 บาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากวันก่อนหน้า ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ระดับ 6.20 บาท เพิ่มขึ้น 1.64% โดยมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 293.42 ล้านบาท

สินเชื่อโตต่อเนื่องทุกไตรมาส

ด้านนายวิรัตน์ ชินประพินพร ประธานกรรมการ THANI เผยว่า ตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 1/62 ถือว่ามีการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นจากการขยายตัวของสินเชื่อที่แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 6 พันล้านบาท รวมไปถึงการปรับตัวดีขึ้นของคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนนี้ปรับตัวลดลง

สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 62 มั่นใจว่าจะเห็นการเติบโตของยอดปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยมั่นใจว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 62 จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังคงเน้นกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการใช้รถบรรทุกในภาคการขนส่งยังขยายตัวค่อนข้างดี ส่วนตัวเลข NPL สิ้นปี 62 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5% จากสิ้นปี 61 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4%

โบรกฯ ชี้เป้าราคา 8.30 บาท

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยยังแนะนำ “ซื้อ” THANI ราคาเป้าหมาย 8.30 บาท โดยฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ของ THANI จะเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน หนุนโดยสินเชื่อที่โตต่อเนื่องและระดับการตั้งสำรองที่ลดลง

ขณะที่ระดับการตั้งสำรองจะผ่อนคลายลงในปี 62 เนื่องจากระดับสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพียงพอแล้วสำหรับ IFRS 9 ทำให้ความจำเป็นในการตั้งสำรองทั่วไปลดลง โดยฝ่ายวิจัยยังคงสมมติฐานการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อปี 62 ที่ 12% และคงประมาณการกำไรสุทธิ 1,794 ล้านบาท

www.mitihoon.com