อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคเช้า

114

อันดับที่ 1 BGRIM  เติบโตตามแผน กดปุ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำแจ 15 เมกะวัตต์ ที่ สปป.ลาว พร้อม COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนามอีก 677 เมกะวัตต์ ภายใน มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM โดยนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำแจ (Nam Che) กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ที่ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเตรียมการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเวียดนามอีก 677 เมกะวัตต์ภายในเดือน มิ.ย.นี้ หนุนรายได้ปีนี้เติบโตกว่า 15-20%  ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง บริษัทมีแผนขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

อันดับที่ 2 MACO ส่งบ.ย่อย ทุ่มงบ 160 ลบ.เข้าซื้อหุ้นโคแมส ครบ 100% พร้อมอนุมัติ VGM ซื้อหุ้น PBSB เพิ่ม40% แล้วเสร็จ ส.ค.62 

ผู้สื่้อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.มาสเตอร์ แอด หรือ MACO ประกอบธุรกิจให้บริการและผลิตสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเบื้องต้นกับ Golden Group Solutions (HK) Limiteds (ผู้ขาย) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 ในการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท โคแมส จำกัด (โคแมส) โดยการให้ บริษัท อาย ออน แอดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้นในสัดส่วน 100% เข้าซื้อหุ้นสามัญของโคแมสเพิ่มเติมจำนวน 16,875 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของโคแมสจากผู้ขาย ในราคาซื้อขายรวมทั้งสิ้น 160,000,000 บาท โดยภายหลังการเข้าทำธุรกิจดังกล่าว จะส่งผลให้ อาย ออน แอดส์ ถือหุ้นในโคแมสเพิ่มขึ้นจากเดิมสัดส่วน 70% เป็นสัดส่วน 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของโคแมส โดยบริษัทคาดว่า อาย ออน แอดส์ จะเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นของโคแมสกับผู้ขาย และดำเนินการซื้อหุ้นดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2562

อันดับที่ 3 TITLEซื้อหุ้นคืนล็อตแรก 120,000 หุ้น หวังช่วยดัน ‘ROE-EPS’ ชี้งบแรงเกิน 200%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ หรือ TITLE โดย “นายศศิพงษ์ ปิ่นแก้ว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม เผยว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้ซื้อหุ้นคืนจำนวน 120,000 หุ้น ในราคา 4.58 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 549,000 บาท ซึ่งถือเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริษัทที่ได้อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงินสูงสุด 99 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน 15 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนคิดเป็น 2.27% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน 2562 “การซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) รวมถึงเพิ่มอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้นสูงขึ้น เนื่องจากหุ้นที่บริษัทฯจะซื้อคืนไม่มีสิทธิรับปันผล และจะทำให้อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับสถานะการเงินของบริษัทฯ ซึ่งผลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯและผู้ถือหุ้น”

อันดับที่ 4 7UPกางแผนระยะสั้น-ระยะยาว แจงผู้ถือหุ้น ลุ้นปลดเครื่องหมาย “C” ภายในQ3/62

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ 7UP โดยนายสิทธิชัย กฤชวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า แผนธุรกิจของบริษัทในระยะสั้นและระยะยาว มีวัตถุประสงค์มุ่งแก้ไขให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทสูงกว่า 50%ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เพื่อปลดเครื่องหมาย “C” รวมถึงดำเนินการให้ผลประกอบการพลิกกลับมาเป็นบวก โดยแผนในระยะสั้นคาดว่าจะรับรู้ผลบวกจาก 4 ธุรกิจหลักประกอบด้วย  ธุรกิจโรงไฟฟ้า คาดว่าจะบันทึกกลับการตั้งด้อยค่าในส่วนของโรงไฟฟ้าวิทัยมูลค่า 50 ล้านบาทได้ในไตรมาส2/62 และคู่สัญญาได้เสนอให้โรงไฟฟ้าในภาคใต้ 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 6 เมกกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าวิทัย  ธุรกิจปรับปรุงคุณภาพน้ำ ล่าสุดได้ส่งมอบงานปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับฟาร์มกุ้งให้กับ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เฟสที่ 1 จำนวน 5 โครงการ เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือน  มี.ค. 62

 อันดับที่ 5 กสิกรไทย เปิดตัว KATALYST โครงการเร่งศักยภาพสตาร์ทอัพไทย

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดตัวโครงการ KATALYST (แคททะลิสต์) เร่งศักยภาพสตาร์ทอัพไทย โดยนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญและสนใจทำธุรกิจด้วยตัวเอง โดยการเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนและกองทุนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทั่วโลกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนำพาธุรกิจให้อยู่รอดหรือเติบโตต่อไปได้ ทำให้สตาร์ทอัพมากกว่า 90% ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

www.mitihoon.com