NWR จ่อขายพอร์ตรถเช่าPE ส่องพื้นฐานแจ่ม-ชี้เป้า1.13บ. (28/06/62)

319

มิติหุ้น-NWR จ่อขายหุ้นธุรกิจรถเช่า PE หลังได้อายัดทรัพย์ไว้ คาดบุ๊กตัวเลขสูงจับใจ ขณะที่งานในมือยังสูงลิ่ว ปีนี้ได้เห็นระดับ 2 หมื่นล้าน โปรยยาหอมพื้นฐานดี โปรเจ็กต์รัฐขับเคลื่อนโครงการใหม่เพียบ ขณะที่รายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ปั๊มได้ 10,444.45  ล้านบาท โบรกมองยังเป็นหุ้นดีมีอนาคต ชูเป้า 1.13 บาท

นายปสันน สวัสดิ์บุรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR  เปิดเผยว่า มีแผนที่จะขายทรัพย์ของ บริษัท  พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) PE ภายหลังจากที่ NWR ได้ทำการอายัดทรัพย์หรือหุ้นในธุรกิจรถเช่าของ PE มาหลังศาลอุทธรณ์ตัดสิน NWR เป็นผู้ชนะคดี

“เราได้ทำการอายัดหุ้นในส่วนธุรกิจรถเช่าของทาง PE ไว้ ในอนาคตมีแผนที่จะขายหุ้นที่อายัดออกมาให้กับกลุ่มทุนใหม่ที่สนใจในธุรกิจรถเช่าของ PE ซึ่งมูลค่าค่อนข้างสูง แต่ยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับทางคณะกรรมการและผู้บริหารของ NWR “นายปสันนกล่าว

งานใหม่เพียบ

สำหรับผลประกอบการปีนี้ยังคงคาดหมายว่าจะออกมาใกล้เคียงกับปี 2561 ที่บริษัทมีรายได้จำนวน 10,444.45  ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 418.04  ล้านบาท  โดยงานในมือ (Backlog ) ที่บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการและสามารถรับรู้รายได้ปีนี้มีอยู่จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท  และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาอยู่จำนวน 5 พันล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างยื่นประมูลงานใหม่อีกหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนเนื้องานดังกล่าว บริษัทคาดหวังว่าจะเป็นผู้ชนะประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะผลักดันให้รายได้ในปี 2563 มีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 15%

อย่างไรก็ดีอยากให้นักลงทุนมองถึงพื้นฐานของ NWR ในระยะยาว โดยในช่วงครี่งปีหลังของปี 2562 ผลประกอบการโดยรวมจะเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเทียบกับในช่วงครี่งปีแรกที่บริษัทส่งมอบงานก่อสร้างได้ช้ากว่าปกติ

โบรกเกาะติดพื้นฐาน

ด้านบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินพื้นฐาน NWR โดยระบุว่า ประเด็นการลงทุนยังคงมุ่งเน้นไปที่การได้งานใหม่ภาครัฐเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด  2 โครงการ 1) ทางด่วนพระราม 3 สัญญาที่ 1 วงเงิน 6-7 พันล้านบาท  NWR ร่วมมือกับ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด  และ 2)งานก่อสร้างโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 1 สัญญา มูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท คิดตามสัดส่วน 30% NWR จะได้รับงานราว 5 พันล้านบาท

งานในมือหนาแน่นปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมงานที่รอเซ็นสัญญาจากงานทางด่วนพระราม 3  และงานรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) นับจากต้นปี –ปัจจุบันมีการรับงานใหม่เพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท NWR ตั้งเป้ามีงานในมือ ณ สิ้นปี 1.8 หมื่นล้านบาท

ผลงานยังสดใส

คาดปี 2562 มีความสดใสจากงานใหม่ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีงานที่อยู่ระหว่างประมูล 1.6 หมื่นล้านบาท คาดหวังความสำเร็จจากการประมูลราว 15% หรือ 2-3 พันล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมงานประมูลเช่น งานรถไฟไทย-จีน เฟส 2 และ งานโครงการมูลค่าสูงอื่นๆจากภาครัฐที่คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าหลังมีรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้มีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มการรับงานใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น จากงานในมือระดับสูงหากการก่อสร้างคืบหน้าตามคาดและสามารถรักษาระดับมาร์จิ้นได้คงที่ ผลประกอบการปี 2563 มีโอกาสพลิกฟื้น  อีกทั้งมีโอกาสรับเงินคืนจากหนี้สูญราว 1 พันล้านบาทจาก PE (บริษัทพรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์) หลังศาลอุทธรณ์ตัดสิน NWR เป็นผู้ชนะคดี แต่คาด PE จะร้องต่อศาลฎีกาต่อไปยังคงใช้เวลา  ประเมินราคาเหมาะสมหุ้น NWR ไว้ที่ระดับ 1.13 บาท