กกร. คาดศก.ไทยครึ่งปีหลังยังแผ่ว ปรับลดการส่งออกเหลือ -1.0-1% หั่นเป้า GDP ปี62 เหลือ 2.8-3.3%

80

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 62 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่อ่อนแรง สะท้อนจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยก็ขยายตัวในระดับต่ำ มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว จากแรงหนุนมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ

ทั้งนี้ ประเมินในช่วงที่เหลือของปี 62 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความท้าทายและขาดปัจจัยหนุน โดยแม้ว่าการส่งออกอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้างจากปัจจัยฐาน และความเป็นไปได้ที่น้อยลงที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีล็อตสุดท้ายจากจีน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้กลับมาสู่เส้นทางการเจรจากันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากความซบเซาของการค้าโลก รวมทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว และอาจยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าอีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย ทำให้แนวโน้มการส่งออกทั้งปี 62 อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ขยายตัว

โดยที่ประชุม กกร. จึงปรับกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 62 ลงมาที่ -1.0% ถึง 1.0% (จากเดิม 3.0-5.0%) และแม้ว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ กกร. มองว่าอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลจากการส่งออกที่ลดลงท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า ดังนั้น กกร. จึงปรับกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 62 ลงมาที่ 2.9-3.3% (จากเดิม 3.7-4.0%) สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 2562 ยังคงไว้ที่กรอบเดิมคือ 0.8-1.2%

ขณะเดียวกัน กกร.ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ประกอบด้วย 1.การปรับขึ้นค่าจ้างควรขึ้นตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไตรภาคี 2.การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและการพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 3.การเพิ่มกำลังคนทดแทน

นอกจากนี้ กกร.มีแผนเข้าหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติในเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยดำเนินการชะลอเงินบาทแข็งค่าอย่างเร่งด่วน หลังช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าแล้ว 6% หวั่นฉุดส่งออก และ GDP ไทย