5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้น

193

อันดับที่ 1 KTC ตั้ง 4 บริษัทย่อยทำ ‘Pico Plus’-ชี้งบQ3เด่นสวนทางเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ผู้ทำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต โดย “นายบูชา ศิริชุมแสง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า KTC กับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นใหม่จำนวน 4 บริษัท ใน 4 จังหวัดใหญ่ เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับประเภท Pico Plus โดยเป็นการให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนา วงเงินไม่เกินรายละ 1 แสนบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินทุนเวียนของ KTC ประกอบไปด้วย 1.บ.เคทีซี พิโก (ชลบุรี) , 2. บ.เคทีซี พิโก (ปทุมธานี) ,3. บ.เคทีซี พิโก (สมุทรปราการ) และ4.บ.เคทีซี พิโก (สมุทรสาคร) โดยสัดส่วนการถือหุ้นของทุกบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น แบ่งเป็น KTC ถือหุ้น 75.0497% และ KTC ถือหุ้น 24.9500% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

อันดับที่ 2 BANPU เรียกความเชื่อมั่นทุ่ม 5,000 ลบ.ซื้อหุ้นคืน หลังพบราคาห้นต่ำสุดรอบเกือบ 3 ปี

มิติหุ้น – บมจ.บ้านปู (BANPU) โดยนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเปิดเผยว่าคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทฯ เพื่อการบริหารทางการเงิน(Treasury Stocks) ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกินร้อยละ7.5% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยจะเป็นการเข้าซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีกำหนดระยะเวลา
ซื้อหุ้นคืน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2562 ถึงวันที่10 มีนาคม 2563 นอกจากนี้คณะกรรมการยังมีมติให้บริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่ายจากกำไรสะสมและผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ0.35 บาท โดยจ่ายจากกำไรที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งผู้รับเงินปันผลจะไม่ได้รับเครดิตภาษี

อันดับที่ 3 AQ จ่อฟ้องคดีแพ่ง ธ.กรุงไทยหวังนำเงินขายทอดตลาดที่ดิน บ.โกลเด้นท์ฯมูลค่า 3,898.70 ลบ.ชำระค่าเสียหายคดีศาลฏีกานักการเมือง

มิติหุ้น- บมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) โดย นายสุทัศน์ จันกิ่งทอง และ นางสาวรัญชนา รัชตะนาวิน กรรมการ บริษัท เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติ ให้ฟ้องคดีแพ่ง ธ.กรุงไทยและบอร์ดบริหาร ธ.กรุงไทยให้ดำเนินการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน บ.โกลเด้นท์ เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียลพาร์ค จำนวน 3,898.70 ลบ.ไปชำระเป็นค่าความเสียหายในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือแก้ไขงบการเงินไตรมาสมาส1/62 ของ ธ.กรุงไทยและนำเงินดังกล่าวชำระเงินต้น ของ บ.โกลเด้นท์ เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียลพาร์คในคดีแพ่งดังกล่าวเพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารฯ โดยบริษัทให้ทนายส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ ดำเนินการแก้ไขการลงบัญชีโดยนำเงินจำนวน 3,898.70 ล้านบาทไปชำระเงินต้นภายใน 15 วันนับจากที่ธนาคารฯ ได้รับหนังสือบอกกล่าว หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ดำเนินคดีตามที่ขออนุมัติจากคณะกรรมการ

อันดับที่ 4  MCS คว้างานใหม่ 14,000 ตัน- ชี้ 4 ยักษใหญ่ญี่ปุ่นเร่งป้อนดีลรับงาน ‘โอลิมปิก’

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล หรือ MCS โดย “นายไนยวน ชิ” ประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า บริษัทได้เซ็นต์สัญญารับจ้างผลิตงานของ Obayashi Corporation Co., Ltd. มีน้ำหนักงาน 14,000 ตัน (ไม่รวมงานเพิ่มเติม) ขณะที่มูลค่าโครงการยังไม่สามารถระบุได้ มีระยะเวลาการผลิตตั้งแต่ เดือน ต.ค.62- ส.ค.63 โดยนับตั้งแต่ต้นปี 62 ถึงปัจจุบัน MCS คว้างานโครงสร้างเหล็กเข้ามาแล้ว 6 โครงการ รวม 95,823 ตัน ด้านแหล่งข่าววงการอุตสาหรรม เผยว่า ช่วงที่เหลือของปี 62 MCS จะทยอยรับงานโครงสร้างเหล็กเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากลูกค้าใหม่ และลูกค้าหลัก อย่าง 4 ผู้รับเหมาใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ บ.คาจิมา คอร์ปเปอเรชั่น ,บ.ทาเกนากา คอร์ปเปอเรชั่น ,บ.ชิมิสุ และ บ.โอบายาชิ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักคิดเป็น 90 % ของรายได้รวม ยังจะทยอยสั่งออเดอร์ล็อตใหม่ๆเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อันดับที่ 5  CIMBT ชี้เทรดวอร์กระทบลงทุน-บริโภคไทย ปรับจีดีพีเหลือ 2.8% มองค่าบาทปลายปี 30.90 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย เปิดเผยว่า จากความตึงเครียดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เริ่มเห็นผลกระทบต่อประเทศไทย โดยภาวะชะลอตัวจากภาคต่างประเทศเริ่มลุกลามมาประเทศไทย ส่งผลให้ภาคการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะภาคการส่งออกมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่ไม่รุนแรงเท่าครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ เมื่อการส่งออกมีปัญหา จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการปรับแผน โดนลดกำลังการผลิตลง และจะมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ เกิดภาวะเงียบเหงา เมื่อภาคเอกชนชะลอการลงทุน จะส่งผลกระทบต่อมายังภาคการบริโภค การจ้างงานจะมีแนวโน้มลดลง ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มถูกตัดมากขึ้น

www.mitihoon.com