5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้น

261

อันดับที่ 1 PTT เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกากรณีข้อพิพาทกับ RPC

มิติหุ้น-บมจ.ปตท.(PTT)โดยชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ เปิดเผยว่าตามที่ เมื่อปี 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ บริษัทจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC จากการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในอัตรา 390 ล้านบาทต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2559พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดจนถึงวันที่ ปตท. ชำระเงินให้แก่ RPC ครบถ้วน และต่อมา ปตท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดและ RPC ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ นั้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ศาล แพ่งได้มีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ ปตท. จ่ายค่าเสียหายตามคำชี้ขาดดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ดังนั้น ปตท. จึงจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งต่อศาลฎีกาตามกฎหมายต่อไป

อันดับที่ 2 BEM ชวดเงินค่าปรับกทพ. รวมดอกเบี้ยเฉียด 600 ล้านบาท หลังศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โบรกย้ำกระทบประมาณการกำไรไม่มาก ชี้ยังต้องจับตาการต่ออายุสัมปทานทางด่วน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ได้ระบุในบทวิเคราะห์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ถึงประเด็นที่ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ที่สั่งให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ให้กับ BEM เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 382,546,492 บาท และชำระดอกเบี้ยจำนวน 209,181,159 บาท ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยนับเป็น Sentiment ลบกับหุ้น BEM ด้วยมูลค่ากรณีพิพาทนี้คิดเป็น 3% เมื่อเทียบกับรายได้ BEM ที่ 2 หมื่นล้านบาท และเป็น 11% ของประมาณการกำไรสุทธิ 5.5 พันล้านบาทในปี 2562 แม้ไม่สูงมากแต่สร้างความกังวลในเรื่องการต่ออายุสัมปทานทางด่วน 30 ปี เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมดกับ กทพ. นั้นจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่สัมปทานจะหมดอายุเดือน ก.พ.63

อันดับที่ 3 BCPG จ้องซื้อโครงการพลังน้ำเพิ่ม หลังกินรวบหุ้น 100% โรงไฟฟ้า Nam San 3A ในลาวที่ COD แล้วขนาด 69 MW คาดโอนหุ้นในไตรมาส3 ปีนี้ 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บีซีพีจี หรือ BCPG ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า จากในวันที่ 17 ก.ย.2562 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน Nam San 3A Power Sole Co., Ltd. เพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตนยประชาชนลาว และบริษัทได้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นแล้วในวันที่ 19 ก.ย.2562 โดยเข้าซื้อหุ้นทั้ง 100% มูลค่าไม่เกิน 174.04 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,315.18 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการโอนหุ้นแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/62 สำหรับ Nam San 3A Power Sole Co., Ltd. เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว ขนาด 69 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนม.ค.59 โดยมีอายุสัญญา 27 ปี โดยเข้าลงทุนดังกล่าวจะดำเนินการผ่านทางบริษัทย่อย คือ บริษัท บีซีพีจี ไบโอเพาเวอร์ 2 จำกัด (BBP2) ซึ่ง BCPG ถือหุ้น 100% และจะทำการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บีซีพีจี อินโดไชน่า จำกัด

อันดับที่ 4 MTS ลุยเทรดทองในจีน เชื่อมเส้นทางสายไหม ต่อยอดธุรกิจในตลาดเอเชีย

มิติหุ้น-  บริษัท MTS GOLD GROUP โดยนายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่าบริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดค้าทองคำเซี่ยงไฮ้ Shanghai Gold Exchange (SGE) โดยการได้รับสิทธิในการเข้าถึงและซื้อขายสินค้ากับตลาด SGE และมีใบอนุญาต (License) อย่างถูกต้องทั้งในสินค้า ประเภท Physical และ Trading ร่วมกับสมาชิกกว่า 110 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตลาดค้าทองคำเซี่ยงไฮ้หรือ Shanghai Gold Exchange (SGE) เป็นหนึ่งในตลาดศูนย์กลางการซื้อขายทองคำรายใหญ่ระดับโลกที่ได้รับการจัดตั้งโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) เพื่อให้มีการซื้อขายทองคำและบริการอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าตลาดซื้อขายทองคำขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและคาดว่าการขยายธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีรายได้จากปริมาณการซื้อขายทองคำเพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นในตลาดดังกล่าว

อันดับที่ 5 PTTOR ย้ำแผนเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นปี 63 เผยยังอยู่ในกระบวนการพร้อมรอบอร์ดอนุมัติ 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปตท.น้ำมันและค้าปลีก หรือ PTTOR โดยนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ได้แก่ แผนธุรกิจ แผนการลงทุน การเตรียมระบบงานต่างๆ รองรับ รวมถึงบุคคลากร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท และเสนอไปยัง รมต.พลังงาน และหลังจากนั้นจะยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน กลต. ซึ่งคาดแผนเข้าตลาดฯ ยังเป็นไปตามแผนในปี 63 ส่วนโครงการ PTT EV Charging Station ที่ติดตั้งภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. ล่าสุดมีจุดชาร์จไฟแล้ว 21 สาขา โดยราคาติดตั้งแบบหัวจ่ายแบบเร่งด่วน (Quick Charging) ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 ล้านบาท/หัวจ่าย และหัวจ่ายแบบธรรมดา (Normal Charging) ใช้เงินลงทุนราว 5 แสนบาท/หัวจ่าย

www.mitihoon.com