RBF บุ๊กผลิต‘อินโด-เวียดนาม’ ปักธงรายได้พุ่งเกิน10% (19/12/62)

515

มิติหุ้น- RBF ลั่นผลงานไตรมาส 4/62 สดใส รับอานิสงส์ช่วงไฮซีซั่น หนุนทั้งปี 62 รายได้เข้าเป้า 6-8% กำไรพุ่ง 13% ส่วนปี 63 รายได้โตทะยาน 10% เหตุบุ๊กโรงงานใหม่ในอินโดนีเซีย-เวียดนาม ทุ่ม 145 ล้านบาทอัพฐานแกร่ง โบรกชี้มีลุ้นขายโรงแรมโกยกำไรเข้าพอร์ตเพียบ แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย 4.60 บาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF ผู้ผลิตและจำหน่ายส่วนประกอบอาหารจำพวกวัตถุแต่งกลิ่นและรส โดย “นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า ปี 63 มั่นใจผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งตั้งเป้ารายได้เติบโตมากกว่า 10% จากปี 62 คาดรายได้จะเติบโตประมาณ 6-8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

บุ๊กโรงงานอินโด-เวียดนาม

โดยเป็นผลมาจากช่วงไตรมาส 1/63 บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ตามกำลังการผลิตโรงงานใหม่ในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าและยอดขายในตลาดต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในปี 63 บริษัทจะผลักดันยอดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองเข้าจำหน่ายใน “ร้านค้ารายย่อย” ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1.แบรนด์เบสท์โอเดอร์, 2.แบรนด์อังเคิลบาร์นส์, 3.แบรนด์ก๊อบจัง, 4.แบรนด์ Super-Find, 5.แบรนด์ Haeyo และ 6.แบรนด์ Angelo โดยสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง ซึ่งจะสนับสนุนให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น

ทุ่มงบ145ล.-รุกธุรกิจ

อีกทั้งบริษัทได้ตั้งงบลงทุนไว้ 145 ล้านบาท เพื่อลงทุนในส่วนต่างๆ อาทิ 1.การลงทุนเครื่องจักรสายแป้ง , 2.พัฒนาระบบการผลิตภายในของโรงงานในไทยให้เป็นแบบออโตเมชั่นคาดจะใช้งบลงทุนรวม 100-120 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะลงทุนห้องทดลองและบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์

ด้าน “นักวิเคราะห์บล.ทิสโก้” เผยว่า การเติบโตของรายได้ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าของ RBF จะมาจาก 1.การตั้งโรงงานผลิตเกล็ดขนมปังในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามที่จะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงต้นปี 63 ซึ่งสามารถสร้างรายได้ 150 ล้านบาท ภายใต้ต้นทุนการขนส่งที่ลดลง  2.การเติบโตของกลุ่มลูกค้าเดิมตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศ

ล่าสุดรายได้มี 6 กลุ่มได้แก่ 1.วัตถุแต่งกลิ่นรสและสีผสมอาหาร 38% , 2.กลุ่มแป้งและซอส 37% ,3.กลุ่มผลิตภัณฑ์อบแห้ง  6%, 4.อาหารแช่แข็ง 4% ,5. บรรจุภัณฑ์พลาสติก 2% และ 6.Trading 14% โดยรายได้ส่วนใหญ่จะเป็นการขายในลักษณะแบบ Made to order (87% ของยอดขาย) โดย RBF มีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้ารายใหญ่ๆที่สูงเนื่องจากมีทีม R&D ที่แข็งแกร่งสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

ลุ้นกำไรขายที่ดิน-Q4เด่น

ขณะที่ธุรกิจโรงแรม 2 แห่ง แม้ปัจจุบันยังเป็นตัวฉุดผลประกอบการ (ขาดทุนราว 30-40 ล้านบาทต่อปี) แต่ฝ่ายวิจัยมองว่ามีแนวโน้มที่จะถูกขายออกและรับรู้กำไรจากที่ดินในอนาคตได้ ขณะที่ปัจจุบัน Bloomberg Consensus มองราคาเป้าหมายเฉลี่ย 4.52 บาท

www.mitihoon.com