กสทช.ประกาศภารกิจปี 63 เดินหน้าประมูล 5G จัดสรรคลื่น 3500 MHz -เปิดใช้วงโคจรดาวเทียมปลอดสัมปทาน

73

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ประกาศทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ปี 63 เดินหน้าการประมูล 5G เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศให้ทันต่อเทคโนโลยี เร่งจัดระเบียบสายสื่อสายและนำสายสื่อสารลงดิน ปรับปรุงโครงข่ายทีวิดิจิตอล มุ่งความโปร่งใสในการทำงาน

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดนโยบายสำคัญและทิศทางการดำเนินงาน 9 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 การประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่สำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการประมูล 4 ย่านความถี่ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการ 5G ในประเทศไทยได้ในปี 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้สามารถแข็งขันกับประเทศต่างๆ ได้ รวมถึงสร้างความพร้อมเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแพทย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเกษตร การค้า ขนส่ง และบริการ

เรื่องที่ 2 การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ 5G และจัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตและการกำกับดูแล เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นคลื่นความถี่อีกย่านหนึ่งที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาให้บริการ 5G แต่เนื่องจากคลื่นความถี่ในย่านนี้ถูกใช้ในกิจการ Microphone ซึ่งจะสิ้นสุดการใช้งานในเดือน มี.ค. 2564 และบางส่วนถูกใช้งานในกิจการดาวเทียม เพื่อเป็นการเตรียมคลื่นความถี่ให้พร้อมใช้งาน สำนักงาน กสทช. จึงจะจัดทำหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถประมูลล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาก็สามารถนำมาใช้งานได้ทันที

เรื่องที่ 3 การประกาศอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเดิม (ที่ไม่ได้ใช้ภายใต้สัมปทาน) ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ให้สิทธิ กสทช. ในการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมที่เหลือจากให้สัมปทานดาวเทียมไทยคมเดิม โดยสามารถออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการอนุญาต เพื่อให้ได้ผู้ประกิจการดาวเทียมรายใหม่

เรื่องที่ 4 การจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน เป็นเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งก่อให้เกิดทัศนียภาพอันสวยงาม โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร อันจะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งอาเซียน

เรื่องที่ 5 การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Site) เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาของ ITU ที่ว่าเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งเสาส่งสัญญาณ ให้ประชาชนรับรู้ และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อทราบว่าเสาส่งสัญญาณไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ช่วยให้สัญญาณโทรศัพท์สามารถกระจายและเข้าถึง เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้

เรื่องที่ 6 การเร่งปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้แล้วเสร็จ สำนักงาน กสทช. จะผลักดันให้การดำเนินการปรับปรุงโครงข่ายสำเร็จตามแผน เพื่อให้ประชาชนสามรถรับชมโทรทัศน์ด้วยความความชัด คุณภาพของภาพและเสียงที่ดี ปรับปรุงระบบโครงข่ายให้เหมาะสมกับย่านความถี่ที่ขยับมา เพื่อนำคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือ ไปให้บริการโทรคมนาคม เพื่อให้บริการ 5G และเทคโนโลยีอื่น

เรื่องที่ 7 การกระจายการให้บริการจากสำนักงาน กสทช. ส่วนกลางไปยังสำนักงาน กสทช. ส่วนภูมิภาค เพื่อให้สำนักงานส่วนภูมิภาคสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกๆ บริการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเข้ามาขอใบอนุญาต ต่อใบอนุญาต ทดสอบมาตรฐาน ขอรับบริการ ขอคำแนะนำ ร้องเรียน หรือติดต่อใช้บริการอื่น ยังสำนักงาน กสทช. (สำนักงานใหญ่) ในกรุงเทพมหานคร

เรื่องที่ 8 การยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. (Integrity & Transparency Assessment: ITA) เพื่อไปสู่ระดับ AA จากเดิมที่สำนักงาน กสทช. ได้รับการประเมินในระดับ A ในปี 2562 ด้วยคะแนน 94.71 ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มหน่วยงานของรัฐอื่นๆ และเป็นอันดับที่ 40 ของประเทศไทยจาก 8,299 หน่วยงานรัฐที่เข้าร่วมรับการประเมิน

และเรื่องที่ 9 การพัฒนาสำนักงาน กสทช. ไปสู่การเป็นสำนักงานดิจิทัล สอดคล้องกับยุทธศาตร์ การพัฒนาประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

“ปี 2563 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน กสทช.จะทุ่มเททำงานเพื่อผลักดันให้เกิด 5G ในประเทศไทย เพื่อรองรับ เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เน้นหนักในการจัดสรรคลื่นความถี่ กำกับดูแล คุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ เราจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของสำนักงาน กสทช.” นายฐากร กล่าว

www.mitihoon.com