EIC ประเมินส่งออกไทยกำลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด

70

ผู้สื่อข่าว มิติหุ้น รายงานว่า อีไอซี ประเมิน การส่งออกไทยกำลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottoming out) สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกทั้งในภาพรวมและรายสินค้าสำคัญ

โดยมูลค่าการส่งออกเดือน ธ.ค. 2019 หดตัวในอัตราลดลงที่ -1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหากไม่รวมทอง จะเหลือหดตัว -0.4% นับเป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำให้การส่งออกเดือน ธ.ค. ปรับดีขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และจักรยานยนต์ โดยทั้งปี 2019 มูลค่าส่งออก (หักการส่งกลับอาวุธเดือน กุมภาพันธ์ 2019) หดตัวที่ -3.4% ใกล้เคียงกับที่อีไอซีเคยคาดการณ์ไว้ที่ -3.3%

อย่างไรก็ดี อีไอซีคงคาดการณ์ส่งออกปี 2020 ขยายตัวต่ำที่ 0.2% โดยแม้ว่าการส่งออกจะมีทิศทางปรับดีขึ้นในระยะต่อไป แต่ยังมีหลายปัจจัยกดดัน เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย ภาวะสงครามการค้าที่ยังคงกดดันการค้าโลกแม้จะมีข้อตกลงระยะแรก (Phase 1) และเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าพลิกกลับมาขยายตัวที่ 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเกือบทุกหมวดสำคัญ นำโดยมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสาเหตุจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขยายตัว 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากพิจารณาการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ไม่รวมทองมีการหดตัวน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เมื่อเทียบกับการหดตัวเฉลี่ยที่ -9.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน)  สำหรับสินค้าบริโภคขยายตัวสูงที่ 14.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากหลายสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผัก-ผลไม้ อย่างไรก็ดี ด้านสินค้าทุน (ไม่รวมสินค้าทุนพิเศษประเภท เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) หดตัวที่ -2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวที่ -2.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ทั้งปี 2019 มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -5.5% ใกล้เคียงกับประมาณการของอีไอซีที่ -5.3%

อย่างไรก็ดี ภาวะการส่งออกของไทยปี 2020 ยังมีหลายปัจจัยกดดันและความเสี่ยง จึงทำให้อีไอซียังคงคาดการณ์ว่า การส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% โดยจากคาดการณ์ของ IMF WEO ล่าสุดในเดือน ม.ค. 2020 พบว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน, สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีทิศทางขยายตัวใกล้เคียงหรือชะลอลงในปี 2020 (รูปที่ 3) จึงทำให้เป็นปัจจัยกดดันหลักที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของภาคส่งออกไทยปีนี้ รวมถึงภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่แม้จะมีความสำเร็จในการเจรจาระยะแรก (phase 1) แต่หากพิจารณาที่อัตราภาษีที่แท้จริง (effective tax rate) ที่สหรัฐฯ เก็บบนสินค้านำเข้าจากจีน พบว่ายังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 19% ดังนั้น จึงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อภาวะการค้าโลกในปี 2020 และสุดท้าย เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกบางกลุ่ม ดังจึงคาดว่าการส่งออกในปี 2020 แม้จะปรับดีขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ