เงินบาทยืนหนึ่งอ่อนค่า ฝุ่นไป ไวรัสมา

154

ตลาดการเงินโลกซึ่งดูเหมือนว่าติดกับดักความผันผวนที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ท่ามกลางนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกนั้น ภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีเหตุต้องสะดุดลง หลังจีนระบุว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่นในภาคกลางของจีนสามารถติดต่อจากคนสู่คน เพียงไม่กี่วันต่อมา ช่องทางข่าวสารต่างๆ ระบุว่าไวรัสดังกล่าวระบาดไปทั่วโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้น สถานการณ์เช่นนี้กดดันกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย รวมถึงสกุลเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีน อาทิ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ราคาน้ำมันและทองแดง ในทางกลับกัน นักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยอย่างเงินเยน พันธบัตรรัฐบาลและทองคำ

เศรษฐกิจไทยซึ่งเผชิญความท้าทายรอบด้านถึงขั้นที่ทางการประเมินอย่างตรงไปตรงมาว่าเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งจากปัจจัยเชิงวัฎจักรและเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน สงครามการค้าผนวกกับเงินบาทที่แข็งค่าโดยไม่เกาะกลุ่มสกุลเงินคู่ค้าและคู่แข่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงผลิตภาพที่ต่ำลง แต่ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นแหล่งสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศที่มีศักยภาพและฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วจากเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนก ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีอัตราการเติบโตสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (กราฟด้านล่าง) และคิดเป็นราว 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปี 2562

อนึ่ง การระบาดซึ่งขยายวงในช่วงเทศกาลตรุษจีน สร้างความหวาดวิตกว่า ตราบใดที่นักลงทุนยังไม่เห็นสัญญาณว่าสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม ไวรัสโคโรนาอาจเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายสำหรับภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของตลาดที่ผ่านเหตุการณ์การระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) พบว่าโดยธรรมชาติตลาดการเงินจะกลับเข้าสู่เสถียรภาพเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้น

เงินบาทเผชิญแรงเทขายอย่างรวดเร็ว โดยอ่อนค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 และกลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงมากที่สุด ท่ามกลางความไม่แน่นอนครั้งนี้ ชี้ชัดว่าเงินบาทไม่ใช่แหล่งพักเงินที่ปลอดภัยอีกต่อไป นอกเหนือจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ หากเครื่องมือกระตุ้นทางการคลังไม่สามารถทำงานได้ เผือกร้อนคงต้องตกอยู่กับผู้ดำเนินนโยบายการเงิน โดยเรามองว่ามีโอกาสมากขึ้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งเราคาดว่าการแสดงความช่วยเหลือเชิงสัญลักษณ์มีประสิทธิผลจำกัด แม้ค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่งจะดีขึ้นบ้าง แต่หนทางการประคองเศรษฐกิจคงไม่สดใสนัก

โดย รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)