ท่าเรือตีปี๊บศาลปลดล็อคแหลมฉบัง เฟส 3

505

 

การท่าเรือฯตีปี๊บ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกคำฟ้องกลุ่ม NCP ที่ฟ้องคณะกก.คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ฯที่ตัดสิทธิ์ข้อเสนอของกลุ่มเพราะขัดเงื่อนไขทีโออาร์  กทท.เตรียมแถลงเดินหน้าพัฒนาเฟส 3 เต็มสูบ

แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศ (กกท.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ เอฟ (F) มูลค่ากว่า 84,000 ล้านบาท ที่ต้องชะงักมาร่วมปี ตามรอยโครงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เดินมาถึงจุดสิ้นสุดที่ทำให้การท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) สามารถจะเดินหน้าโครงการได้เต็มสปีดแล้ว หลังจากศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาล่าสุดให้ยกคำฟ้องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ที่ร้องขอให้ศาลสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือก ทบทวนและรับซองข้อเสนอของกลุ่มจากที่ถูกประเมินว่าขาดคุณสมบัติก่อนหน้านี้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้องคำฟ้องทั้งหมดของกลุ่มดังกล่าวแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคำฟ้องของกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี(NCP) ที่ฟ้องร้องต่อศาลจากการที่ถูกคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือเอฟ (F) ตัดสิทธิ์เพราะถูกประเมินไม่ผ่านคุณสมบัติ จากการที่ทางกลุ่มไม่ได้มีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นใหม่ตามเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) แม้ทางกลุ่มจะมีการลงนามในเอกสารยืนยันแสดงความจำนงและรับผิดชอบร่วมตามข้อเสนอในภายหลัง แต่คณะกรรมการคัดเลือกได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 62 ให้ตัดสิทธิ์ข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าว เพราะไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอ จนเป็นเหตุให้กิจการร่วมค้า NCP ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มบริษัทในนามกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 และให้ทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งให้ยกคำฟ้องของกิจการร่วมค้า NCP ที่ขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F โดยมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่ม NCP ซึ่งทำให้คำตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นอันถูกต้องและสามารถดำเนินการต่อไปได้

ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุด ทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สามารถที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปได้ หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการได้พิจารณารับข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี(GPC) ที่ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ. แทงค์เทอร์มินัล ในเครือ ปตท.และบจ. China Harbour engineering จากประเทศจีน

สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความสำคัญในการรองรับยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูง ด้วยเครือข่ายคมนาคมที่ครบวงจร ด้านระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation แบบไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่ม 7 ล้าน ทีอียู. ต่อปี หากเมื่อโครงการฯ ดังกล่าว เปิดให้บริการครบทุกท่าจะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ประมาณปีละ 18 ล้าน ทีอียู. และจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) เพื่อเป็นปัจจัยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นประตูการค้าของประเทศในภูมิภาค

http://www.natethip.com/news.php?id=1906

www.mitihoon.com