ตลาดยังขาดปัจจัยเดินหน้า แนะจัดพอร์ตเน้นสภาพคล่อง

96

สัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ทำการสุดท้ายของเดือน พ.ค. สถานการณ์ของ COVID-19 ยังมีการระบาดต่อเนื่องไป โดยศูนย์กลางการระบาดตอนนี้ย้ายไปที่ในกลุ่มประเทศละตินโดยเฉพาะบราซิลและกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย  แต่ความรุนแรงของการระบาดต้องบอกว่าทั่วโลกหลายประเทศสามารถควบคุมได้ และกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภาพบวกที่ดี

แต่ดูเหมือนผลพวงจาก COVID-19 จะกลายเป็นประเด็นการทางเมืองระหว่างประเทศที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง  จากการที่สหรัฐฯได้ออกมาระบุว่าจะดำเนินมาตรการภาษีกับจีนอีก หลังกล่าวว่าจีนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว และล่าสุดที่เป็นประเด็นปะทุขึ้นมาอีกครั้ง คือ  รัฐบาลจีนเตรียมกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ฮ่องกงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ นำมาซึ่งการประท้วงของชาวฮ่องกงอีกครั้ง ซึ่งทางสหรัฐฯก็มีการเคลื่อนไหวที่จะเตรียมตอบโต้ด้วยการพิจารณากฎหมายด้านมนุษยชนในสัปดาห์นี้

ด้วยท่าทีของทั้ง 2 ประเทศที่ขัดแย้งกันต่อเนื่องเป็นตัวแปร ที่จะมีผลตอ่ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่ต้องจับตามองในช่วงเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้  

สำหรับตลาดสัปดาห์นี้ ภาพรวมน่าจะเคลื่อนไหวทรงตัว ตลาดยังขาดปัจจัยบวกในระยะสั้น ขณะที่ ตัวเลข  GDP ของประเทศต่างๆทั้ง เยอรมันและอินเดียที่รายงานออกมายังคงส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง แต่หลังจากที่มีการเปิดให้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น่าจะเห็นตัวเลขสำคัญอย่าง การค้าปลีกและการบริโภคฟื้นตัวได้ในยุโรป หากปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2 นี้อาจจะเป็นจุดต่ำสุดของปี 2020 ได้

ดังนั้นการสินทรัพย์ลงทุนในช่วงระยะนี้ยังคงคำแนะนำไว้เช่นเดิมโดยเน้นสภาพคล่องของพอร์ตการลงทุนในระดับสูง แนะนำให้ทยอยลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงเนื่องจากปัจจัยบวกเริ่มลดน้อยลง KTBST SEC ยังคงเน้นสัดส่วนการถือครองหุ้นน้อยกว่าตราสารหนี้ สำหรับตลาดหุ้นที่ให้ความสนใจยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และตลาดหุ้นจีนเป็นหลัก รวมไปถึงกลุ่มสุขภาพที่มีการเติบโตสม่ำเสมออย่าง กองทุนเปิด วี โกลบอล อินโนเวทีฟ เฮลท์แคร์ (WE-GIHEALTH) จาก บลจ.วี

ด้านของตราสารหนี้ ยังคงคำแนะนำให้เน้นลงทุนในตราสารหนี้ตลาดพัฒนาแล้วมากขึ้น และแนะนำให้กระจายตัวลงในตราสารหนี้ระดับที่น่าลงทุน (Investment grade bond) เป็นหลัก เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากการอัดฉีดของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED)

ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอื่น เช่น ทองคำ แนะนำให้เข้าลงทุนเมื่อมีการปรับตัวพักฐานบริเวณ 1,680 – 1,700 ส่วนการลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แนะนำให้ลดสัดส่วนลง หลังจากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อและค่าเช่าโดยรวมในกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกยังคงชะลอตัว ติดตามข่าวสารการลงทุนได้จาก ”มุมความรู้”  https://www.ktbst.co.th/th/knowledge.php

                               

โดยคุณชาตรี  โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST SEC)

www.mitihoon.com