BAM พิษ‘โควิด’ดันยอดNPLพุ่ง ลูบปากโกยหนี้เน่า4พันล้าน (05/06/63)

448

มิติหุ้น-BAM ชี้พิษ COVID-19 ผลักดันยอด NPL พุ่งพรวด ด้าน “บิ๊กบอส” สั่งลุยชิงประมูลหนี้ NPL เข้ามาบริหารกว่า 4 พันล้านบาท เชื่อทั้งปีโกยหนี้เข้าพอร์ต 1.1 หมื่นล้านบาท โชว์กึ๋นขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ หวังกินรวบรายได้ประจำ

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM ผู้บริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย “นายบรรยง วิเศษมงคลชัยประธานคณะกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า การระบาดของ COVID-19 และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ จะผลักดันให้ช่วงเดือน พ.ค.63 เป็นต้นไป แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และ NPA จะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.63 ที่มี NPL เฉลี่ยที่ 3.1% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 2.9% ของสินเชื่อรวม

สัญญา NPLในระบบพุ่ง
อย่างไรก็ดีการเพิ่มขึ้นของ NPLนั้น จะเพิ่มขึ้น “แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระฉูด” เพราะที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตราการช่วยเหลือ เพื่อหวังสะกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในระบบ อย่างไรก็ดีตลอดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อาจจะเริ่มเห็นสถาบันการเงินทยอยขายหนี้ NPL และ NPA ออกมามากขึ้น โดยการที่ BAM เป็นผู้บริหารสินทรัพย์รายใหญ่และมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) สูงจึงมีโอกาสได้หนี้เสียมาบริหารเป็นจำนวนมาก

ลุยซื้อหนี้เสีย1.1หมื่นล.
โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อ NPL และ NPA เข้ามาบริหารกว่า 4,000 ล้านบาท จากที่ผ่านมาซื้อเข้ามาแล้วราว 6,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งปี 63 คาดซื้อหนี้เข้ามารวม 11,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 12,000 ล้านบาท  ล่าสุดบริษัทมีพอร์ตหนี้รวม 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น NPL ประมาณ 450,000 ล้านบาท และ NPA ประมาณ 50,000 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาซื้อหนี้ และ บริหารต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง ซึ่งการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.นี้

มั่นใจผลงานQ3ฟื้นตัวชัด
ส่วนแนวโน้มผลงานไตรมาส 2/63 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งกระทบต่อยอดเรียกเก็บเงินสดที่ลดลง เนื่องจากบริษัทมีมาตราการผ่อนชำระเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการพักเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย และพักเงินต้นจ่ายเพียงดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามบริษัทเชื่อว่าผลเรียกเก็บเงินสดจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลงานของบริษัทเริ่มเติบโตได้ดีมากขึ้น ส่วนทั้งปี 63 คาดรายได้รวมจะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจากผลกระทบ Covid-19

นายบรรยง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทมีแนวคิดขยายไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ประจำ อาทิ การให้คำปรึกษาการบริหารและพัฒนาที่ดิน ฯลฯ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในระยะถัดไป 

www.mitihoon.com