AOT แจงเหตุช่วยเหลือ “กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์” ขยายระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา – เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ

274

ผู้สื่อข่าว “สื่อข่าว” รายงาน บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) โดย นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ เปิดเผยว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แจ้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) โดยการขยายระยะเวลาการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ การเลื่อนระยะเวลาประกอบกิจการ และกำหนดแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและสัญญาให้สิทธิประกอบกิจการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ให้ทราบแล้วนั้นเนื่องจากได้มีผู้ลงทุนหลายรายสอบถามข้อมูลด้านต่างๆ ในการที่ ทอท. กำหนดมาตรการให้ความ
ช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ทอท. จึงขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

1. เหตุผลความจำเป็นและแนวทางในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง (ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.)ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.)

สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทยประกาศจำกัดการเดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท.โดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการและสายการบินกว่า 1,000 สัญญา มีรายได้ลดลงในขณะที่ต้องรับภาระจากค่าใช้จ่ายต่างๆดังนั้น ทอท. ในฐานะรัฐพาณิชย์จึงได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของสายการบินและผู้ประกอบการ จากการลดลงของจำนวนผู้โดยสาร และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐทอท. ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการตามที่ได้รับการร้องขอโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

1.1 การประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 อนุมัติแนวทางให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับ ทอท. โดยเรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละจากยอดรายได้ประกอบกิจการ โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าตอบแทนขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 รวมทั้งได้ขยายระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับงวดที่ครบกำหนดชำระปกติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563 ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนรายละเอียดมาตรการฯ ปรากฏตามที่ได้แจ้ง ตลท. ตามหนังสือ ทอท. ที่ 2834/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

1.2 การประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 อนุมัติการกำหนดอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่และอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายหลังสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1.1 ในวันที่ 31 มีนาคม 2565 แล้ว โดย ทอท.จะเรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยใช้อัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2562 เป็นฐานในการคำนวณ นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินเพิ่มเติม เช่น การลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน ค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน ค่าเช่าพื้นที่ในการประกอบกิจการ ในอัตราร้อยละ 50 เป็นต้นรวมทั้งเลื่อนระยะเวลาการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว สำหรับยอดที่ครบกำหนดชำระตามระยะเวลาการประกอบกิจการปกติออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงเดือนธันวาคม 2563 พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการนำอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำมาใช้ภายหลังสิ้นสุดมาตรการฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาในการประกอบกิจการรายละเอียดมาตรการฯ ปรากฏตามที่ได้แจ้ง ตลท. ตามหนังสือ ทอท. ที่ 6383/2563 ลงวันที่ 23 เมษายน 2563

1.3 การประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ประกอบการและสายการบินสำหรับยอดที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563 ออกไปอีก จาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายลงรายละเอียดมาตรการฯ ปรากฏตามที่ได้แจ้ง ตลท. ตามหนังสือ ทอท. ที่ 11328/2563
ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563

2. แนวทางการพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์

กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ทสภ., ทภก., ทชม. และ ทหญ. และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ทสภ. ด้วยวิธีประมูลเสนอราคากำหนด อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2574 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของสัญญาจะเป็นช่วงที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเข้าปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ทั้งภายในอาคารผู้โดยสารหลัก และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ได้ตามกำหนด รวมทั้งส่งผลต่อแผนการเปิดใช้อาคาร SAT-1 จากเดิมซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2563 ต้องเลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2565 (ทั้งนี้ กำหนดการดังกล่าว ทอท. ได้พิจารณาจากปัจจัยหลักในเรื่องกำหนดแล้วเสร็จ ประกอบกับการทดสอบระบบ รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของ ทอท.ด้วย)

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับการพิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือฯ ตามข้อ 1 ไม่ครอบคลุมสัญญาของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ซึ่งได้เสนอค่าตอบแทนขั้นต่ำปีแรกจากประมาณการของจำนวนผู้โดยสาร ในปี 2564 เป็นหลัก ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ได้มีหนังสือร้องขอให้ ทอท. พิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือฯ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 จึงมีมติอนุมัติให้เลื่อนเวลาการเข้าปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ออกไปอีก 1 ปี พร้อมทั้งขยายระยะเวลาสิ้นสุดของการประกอบกิจการออกไปอีก 1 ปี จากวันที่ 31 มีนาคม 2574 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2575 และปรับการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 โดยใช้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head)ที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ยื่นเสนอไว้เดิมในการประมูล มาคำนวณร่วมกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆในขณะที่ยังคงเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละเหมือนเดิม และเมื่อใดที่จำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่ากับจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ยื่นเสนอราคาไว้ จะปรับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามสูตรที่กำหนดไว้ในสัญญารายละเอียดมาตรการฯ ปรากฎตามที่ได้แจ้ง ตลท. ตามหนังสือ ทอท. ที่ 11380/2563ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563

3. ทอท. ขอเรียนชี้แจงว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ได้ชี้แจงข้างต้น ทอท. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ ด้านประกอบกัน อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน รวมทั้งได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ และหากสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จะสามารถทำให้องค์กรสามารถดำเนินงาน
ไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก ส่งผลดีต่อการดำเนินงานของ ทอท. และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

4. อนึ่ง จากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ทอท. อย่างมีนัยสำคัญ ทอท. ได้มีหนังสือแจ้งประมาณการปริมาณการจรจรทางอากาศ ในช่วงปี2563-2565 และรายได้ที่คาดว่าจะลดลงให้ ตลท. ทราบแล้ว ตามหนังสือ ทอท. ที่ 9379/2563 ลงวันที่ 17 มิถุนายน2563 และเมื่อได้พิจารณาประกอบกับมาตรการให้ความช่วยเหลือฯ ตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว จะมีผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. ดังนี้

ในปี 2563 ทอท. คาดว่าจะมีรายได้ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ในอัตราร้อยละ 50.70
ในปี 2564 ทอท. คาดว่าจะมีรายได้ลดลงจากปีงบประมาณ 2563 ในอัตราร้อยละ 42.21
ในปี 2565 ทอท. คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ในอัตราร้อยละ 188.13
ทั้งนี้ภายใต้การคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้โดยมีวัคซีน
ป้องกันโรค และปริมาณการจราจรทางอากาศในปี 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสาร คิดเป็นร้อยละ 76 ของปี2562 (ซึ่งเป็นปีก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19)

www.mitihoon.com