สรุป มติครม. เห็นชอบ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกฯ

495

สรุป ประชุม ครม เห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 นาฬิกา เป็นต้นไป ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

โดย ข้อเท็จจริง

  1. โดยที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 ซึ่งมีแกนนำที่สำคัญ อาทิ นายอานนท์ นำภา นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง นายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือ ปอ นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว นายทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว และนางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานครจำนวนหลายครั้ง โดยล่าสุดได้ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00 น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และต่อมาได้มีการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในช่วงดึกของวันดังกล่าว
  2. ในช่วงที่มีการชุมนุม กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้กระทำการที่ล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะในหลายประการ และได้ใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน รวมทั้งมีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน นอกจากนี้ยังมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบางอีกด้วย

 

การดำเนินการที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของกลุ่ม คณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 นาฬิกา เป็นต้นไป ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมการชุมนุมมิให้เกิดความรุนแรง และไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความรุนแรงดังกล่าว เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนทำให้นายกรัฐมนตรีไม่อาจขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงทีซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 5 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และเอื้อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลให้ได้อย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 นาฬิกา เป็นต้นไป

 

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 ตุลาคม 2563 (มิติหุ้น)