ถอดรหัสเบื้องหลังปมร้อน “รถไฟฟ้า BTS-สายสีส้ม”

1543

ยังคงเป็นประเด็นสุดร้อน เป็น Talk of the Town

กับเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ ที่เกิดปมงัดข้อกันขึ้นระหว่างกระทรวงมหาดไทยของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ชงเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมกับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ที่แทงความเห็นคัดค้านสวนทางไปตรงๆ..

 

จนทำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ต้องชักเรื่องขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวออกไปก่อน ทิ้งปมปริศนาว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงาน เหตุใดคมนาคมจึงขวางลำการต่อขยายสัมปทานในครั้งนี้

 

ก่อนจะมีรายงานกระเซ็นออกมาจากแฟ้มคมนาคมที่แทงความเห็น “สวนทาง” คัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ โดยหยิบยกประเด็นในเรื่องของสัญญาที่ยังเหลืออีกตั้ง 10 ปีและอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แพงกว่ารถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ภายใต้การกำกับดูแลของคมนาคม ที่มีระยะทางยาวกว่า แต่ไหงกลับถูกกว่าได้

 

กลายเป็นปม “ดราม่า” ที่ทำเอาทุกฝ่ายต้องหันกลับมามองอย่างไม่กระพริบ!

ยิ่งเมื่อมีกระแสข่าว “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. หน่วยงานที่ต้องรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิด-สถานีคูคต ไปอยู่ในอ้อมอก ก่อนจะโอนภารกิจการบริหารและซ่อมบำรุงออกไปให้ BTS ดำเนินการเดินรถให้อีกทอด ได้ออกมายอมรับว่า กทม.เอง “บ่จี๊” ไม่มีเงินจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอสซี ตั้งแต่ปี 2561 เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาท

จนกระทั่งมีกระแสข่าว BTS ขู่จะหยุดให้บริการ หาก กทม. ยังไม่จ่ายหนี้ที่ตั่งค้างอยู่ให้ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนกังขา!

ในเมื่อไม่มีปัญญาจะบริหารจัดการแล้ว กทม. จะรับโอนโครงการนี้ไปทำซากอะไร สู้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการมาแต่แรกเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาเดินรถไฟฟ้าโดยตรงไม่ดีกว่าหรือ ?

ย้อนรอย..ปมร้อนรถไฟฟ้า

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยไปพิจารณาประเด็นร้อนที่กำลังระอุแดดอยู่เวลานี้ นอกเหนือจากสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวแล้ว ยังมีกรณีการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังโม่แป้งอยู่ และกำลังเผชิญกับปมปัญหาที่เกิดมาจากการร้องแรกแหกกระเชอของบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว

นั่นก็คือ บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในเวลานี้ ซึ่งได้ออกโรงยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ต่อกรณี รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (คณะกรรมการตามมาตรา 36) กรณีเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ที่แตกต่างไปจากเอกสารประกวดราคา(RFP) ที่ได้ออกไปแล้ว

จนกระทั่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพิ่มเติมที่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ออกมา และสั่งให้กลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่จะพิจารณาซองข้อเสนอด้านการเงินและผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ที่ผ่านการพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรัฐโดยทั่วไป ก่อนที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนทำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกของศาลปกครองกลาง

จนถึงวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมาทำให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องเลื่อนการเปิดซองโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แน่นอน ! สำหรับ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ออกมายืนยันนั่งยัน ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ด้วยข้ออ้างต้องการได้ผู้รับสัมปทานที่มีศักยภาพ จึงไม่อาจจะพิจารณาเฉพาะข้อเสนอทางการเงินและผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดแก่รัฐได้ โดยที่กระทรวงคมนาคมเองก็แอ่นอกปกป้อง ยืนยันในอำนาจที่กระทำได้

ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวถูก “หักล้าง” ลงอย่างสิ้นเชิงจากทุกภาคส่วนที่หยิบยกข้อมูลขึ้นมาโต้แย้ง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมกับแฉเบื้องหลังความพยายามปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกในครั้งนี้ เพื่อหวัง “อุ้มสม” กลุ่มทุนทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่เต็มอกว่า เป็นกลุ่มทุน “กากี่นั๊ง” ที่แทบจะส่งคนเข้าไปนั่งสั่งการแทนผู้ว่า รฟม. นั่นเอง!

ด้วยเหตุที่ ก่อนหน้านี้กลุ่มทุนดังกล่าวต้อง “ชวด” โครงการเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ ของรัฐไปแล้วหลายต่อหลายโครงการ ไล่ดะมาตั้งแต่สัมปทานมอเตอร์เวย์ 2 สาย (บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี) มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท , โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้า สายสีชมพู และสายสีเหลือง มูลค่ากว่า 65,000 ล้านบาท

หากต้องชวดโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาทไปอีกโครงการ ก็เห็นทีจะส่งผลกะทบต่อสถานะทางการเงินและเครดิตของกลุ่มทุนดังกล่าวอย่างรุนแรงแน่ จึงทำให้มีความพยายามแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ที่แม้จะแหกทุกหลักเกณฑ์ที่เคยมีในประเทศไทยก็ต้องทำ!

เมื่อโครงการดังกล่าวต้องมาสะดุดตอจากการร้องแรกแหกกระเชอของกลุ่ม BTS จึงยังผลให้โครงการประมูลสัมปทานร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่ถือเป็น “ขุมทรัพย์แสนล้าน” ใต้ปีกกระทรวงคมนาคมต้องค้างเติ่ง จ่อจะลากยาวเป็นมหากาพย์ หากกลุ่ม BTS ยังไม่รามือ!

เมื่อ กทม. และกระทรวงมหาดไทย ต้องกระเตงการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว จากที่สิ้นสุดสัญญาในปี 2572 โดยขยายไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 เพื่อให้การเดินรถมีความต่อเนื่อง โดย BTS ยอมรับเงื่อนไขที่จะรับมูลหนี้กว่า 45,000 ล้าน ของ กทม. และยอมรับเงื่อนไขการตรึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวและสีเขียวส่วนต่อขยายที่มีระยะทางรวม 68.5 กม. เอาไว้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

แม้จะเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่สำหรับกระทรวงคมนาคมที่ยังคง “คาใจ” กับการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่ถูกกระตุกเบรกอยู่เวลานี้ย่อมไม่ยอมจบด้วยแน่ รายงานความเห็นของกระทรวงคมนาคมที่มีไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. คัดค้านการขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ด้วยข้ออ้างยังมีเวลาอีกตั้ง 10 ปี และอัตราค่าโดยสารแพงเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นมูลเหตุ ขัดขวางการขยายสัมปทานในครั้งนี้

การขบเหลี่ยม เฉือนคม ระหว่าง กทม. กับ BTS และ รฟม. กับ BEM จึงไม่ได้เป็นเพียงสงครามปกติ แต่เป็น “สงครามตัวแทนของกลุ่มทุน” โดยมีการจับประชาชนคนกรุงนี่แหล่ะเป็นตัวประกัน!!!

หากท้ายที่สุดแล้ว กลุ่ม BTS จะได้รับการไฟเขียวขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ก็ต้องยอมรามือจากรถไฟฟ้า สายสีส้ม เป็นข้อแลกเปลี่ยน หาไม่แล้วงานนี้คงไม่จบลงอย่างง่าย ๆ แน่!

“ศักดิ์สยาม” ยันไม่ใช่เกมส์การเมือง

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า กรณีคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวให้กลุ่มบีทีเอสครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเกมส์การเมืองแต่อย่างใด พร้อมที่จะอธิบายในทุกเรื่องและเป็นไปตามหลักการ

“เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีสายสีส้ม รวมทั้งไม่ได้ขวางลำใครด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบีทีเอสก็สามารถเข้าร่วมประมูลสายสีส้มได้ และที่เสนอความคิดเห็นไปนั้น ก็อยากให้ทุกเรื่องทำอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามกฎหมาย เพราะตนอยากพ้นตำแหน่งแบบมีชีวิตที่สุขสบาย อย่างไรก็ตามในวันที่ 26 พ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคม จะส่งนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมชี้แจงต่อกรรมาธิการคมนาคมในเรื่องนี้”

ทั้งนี้ กรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดทำความคิดเห็นเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ความครบถ้วนตามหลักการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) 2. ค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท มีราคาแพงเกินไปหรือไม่ เพราะระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเก็บค่าโดยสารสูงสุดเพียง 42 บาทเท่านั้น 3. รัฐจะเสียโอกาสใช้ประโยชน์สินทรัพย์ที่จะรับโอนจากเอกชนภายหลังหมดสัญญาในปี 2572 หรือไม่ และ 4. กรณีการจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จ้างวิ่งส่วนต่อขยายเมื่อปี 2555 ยังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควรรอให้การพิจารณาดังกล่าวมีผลไปก่อนหรือไม่ ซึ่งหากกระทรวงมหาดไทยสามารถตอบ คำถาม และชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นได้กระจ่างก็ไม่น่ามีปัญหา

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

ที่มา: http://www.natethip.com/news.php?id=3350

www.mitihoon.com