MTL เร่งเครื่องโตทุกช่องทาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ครบทุกเซกเมนต์

200

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต หรือ MTL เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ ช่องทางการขายที่หลากหลาย ผ่านนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุก Journey ในแบบที่มีความเฉพาะตัวของบุคคล (Personalization) มากยิ่งขึ้น ผ่านแพลตฟอร์ม Digital และ Non-digital ที่สามารถเข้าถึงความต้องการในทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (Regional Company)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านความคุ้มครองสุขภาพ บริษัทได้เปิดตัวโครงการ “Super Health” ที่นำเสนอความคุ้มครองสุขภาพ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในทุก Segments เข้าถึง กลุ่มอายุที่หลากหลาย อีกทั้งยังเลือกซื้อได้ตามไลฟ์สไตล์ แบบที่ดูแลค่าใช้จ่ายตั้งแต่บาทแรกหรือแบบที่ช่วยดูแลค่ารักษาส่วนเกินจากสวัสดิการเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงสามารถเลือกความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก (OPD) แบบผู้ป่วยใน (IPD) หรือเลือกความคุ้มครองได้ทั้งสองแบบ อยากได้แบบไหนสามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ

โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “โครงการ ดี คิดส์ (D Kids Campaign)” โดดเด่นด้วยความคุ้มครองที่คอยช่วยดูแลค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ให้ความคุ้มครองค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน ค่าห้องผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู.) ค่าหมอ ค่ายา ค่าตรวจ ค่าผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาลกรณีแอดมิดเหมาจ่ายในวงเงินเดียวสูงสุดถึง 5 ล้านบาท(1) ต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง คุ้มครองตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มสมัครได้ตั้งแต่อายุ 30 วัน ดูแลกันยาวให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี

นอกจากนี้ยังได้ขยายอายุรับประกันภัยสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบ อีลิท เฮลท์ เพื่อให้การดูแลแบบเหนือระดับ ครอบคลุมไปยังกลุ่มเด็กมากยิ่งขึ้น จากเดิมอายุรับประกันอยู่ที่ 18-80 ปี ขยายเป็นเริ่มรับประกันตั้งแต่อายุ 11-80 ปี พร้อมอุ่นใจได้ยาว คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี คุ้มครองสุขภาพทั้งโรคระบาด โรคร้ายแรง โรคทั่วไป และอุบัติเหตุ แบบจ่ายตามจริง 20 – 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับผู้เอาประกันภัยอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม ค่าเตียงเสริมสำหรับพ่อหรือแม่สำหรับการมาเฝ้าไข้ลูก 5,000 บาท/วัน(2)

นายสาระ กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าทำการตลาดแบบหลากหลายช่องทาง (Multi Distribution Channels) ไม่ว่าจะเป็นช่องทางตัวแทนประกันชีวิต ช่องทางธนาคาร ช่องทางโบรกเกอร์ รวมไปถึงการขายประกันออนไลน์ ที่เป็นแบบออนไลน์ทั้งระบบการขาย (Online E2E) หรือผสมผสานการขาย (Hybrid) นำกระบวนการขายแบบ Digital Face to Face หรือแบบ Face to Face เข้ามาอยู่ในกระบวนการขายที่ผสมผสานการเสนอขายผ่านช่องทาง Face to Face และ Digital Face to Face ด้วยมาตรฐานการเป็นตัวแทนประกันชีวิตที่มีความเป็นมืออาชีพ มุ่งสู่การเป็นผู้ออกแบบทางการเงิน (Life Planner) ที่สามารถออกแบบให้คำปรึกษา และวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมแก่ลูกค้าแต่ละราย และยังเตรียมพัฒนาระบบและเครื่องมือสนับสนุนการขายให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของผลการดำเนินงานของเมืองไทยประกันชีวิต ในปี 2563 มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) อยู่ที่ 21% มีสัดส่วนการขายแบบประกันชีวิตประเภทคุ้มครองชีวิตและประกันชีวิตควบการลงทุน (Protection and Investment Linked Product Portion) สูงถึง 76% ขณะเดียวกันมีผลงานจากช่องทางการขายผ่าน Online Sales เติบโต 120% เมื่อเทียบกับปี 2562

ขณะที่ในด้านความแข็งแกร่งและด้านเสถียรภาพทางด้านการเงินนั้น บริษัทได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) จาก S&P Global Ratings อยู่ที่ระดับ BBB+ โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ และจากฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) อยู่ที่ ‘A-‘ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS) ที่ ‘AAA(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นอันดับเครดิตในระดับประเทศที่สูงที่สุดแล้ว และยังมีความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยสะท้อนจากอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนซึ่งอยู่ที่ 309% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งสูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่ 120%