พบแล้ว! ตัวปัญหา? ฉุดรั้งธุรกิจไทย

408

รู้แล้ว! ใครคือตัวการสำคัญฉุดรั้งระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และทำให้ “สตาร์ทอัพ” สัญชาติไทย ไม่อาจไต่ระดับขึ้นเป็น “ยูนิคอร์น” เพื่อแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติจากเพื่อนบ้านอาเซียนได้

 

ไซส์เศรษฐกิจของไทยในย่านอาเซียน เป็นรองก็แค่อินโดนีเซีย ทว่าธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า “สตาร์ทอัพ” ในระดับ “ยูนิคอร์น” (มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.18 หมื่นล้านบาทขึ้นไป) ของไทย…กลับไม่มี

 

และแทบจะหาดาวเด่น เป็น “ว่าที่ยูนิคอร์น” แทบไม่เจอ!

 

อินโดนีเซียมีธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ระดับ “ยูนิคอร์น” มากสุด 4-5 ราย ขณะที่ประเทศเล็กๆ อย่าง…สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย แม้กระทั่ง หน้าใหม่ๆ จากเวียดนาม ต่างก็มีให้เห็นกันแล้ว…

 

ธุรกิจรับส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงขนส่งคน อย่าง Grab จากสิงคโปร์ หรือ Gojek จากอินโดนีเซีย แม้กระทั่ง Kerry ที่มีต้นทางจากมาเลเซีย ฯลฯ ต่างก็ใช้ “จุดเด่น” ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนประชากรใช้สมาร์ทโฟนสูงสุดในย่านอาเซียน แถมมีช่วงเวลาการใช้อินเตอร์สูงกว่ามาตรฐานโลก

 

มากกว่านั้น คนไทยยังตื่นตัวกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (“อีคอมเมิร์ซ”) รวมถึงเรียกใช้บริการรถยนต์ส่วนบุคคล/รถแท็กซี่ผ่านแอพลิเคชั่น มากเป็นอันดับต้นๆ

 

ยิ่งรัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่…โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ฯลฯ ล่าสุด กับโครงการเราชนะ และที่จะมีตามมาในอนาคต

 

ก็ยิ่งทำให้คนไทยเพลิดเพลินเจริญใจกับการสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จนกลายเป็นความคุ้นชิน…

 

ท่ามกลางสถานการณ์ “หวาดกลัว” เจ้าเชื้อไวรัสโควิด-19 เห็นได้ชัดเจนว่า…คนไทย เพิ่มสัดส่วนการสั่งซื้อสินค้าและเรียกใช้บริการรถผ่านแอปฯ รวมถึงใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากเป็นทวีคูณ

 

เมืองไทยจึงกลายเป็น “แดนสวรรค์” ของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ และพวกเขาต่างก็ทุ่มทุกสรรพกำลัง เพื่อช่วงส่วนแบ่งการตลาดจากคนไทย และจากธุรกิจไทย

 

เจ้าเก่า…รายใหญ่ของไทย อย่าง…ไปรษณีย์ไทย ไม่อาจใช้ “จุดแข็ง” ที่มีเคยมีในอดีต ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้

 

ไม่ว่าความเป็น…แบรนด์ที่คนไทยรู้จักมายาวนาน นับแต่ธุรกิจเดิมๆ (รับส่งจดหมาย/พัสดุภัณฑ์) ยังเฟื่องฟูและมีความสำคัญ

 

 

 

 

 

หรือการที่ ไปรษณีย์ไทย มักจะอ้างอยู่เสมอว่า…พวกเขาที่รู้จักเมืองไทยทุกซอกมุม แต่สิ่งนี้…ไม่อาจนำมาใช้ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เพียงแค่เปิดเว็บไซต์ เซิร์จแองจิ้น อย่าง…กูเกิ้ล แมป จากสมาร์ทโฟน ก็รู้ทุกซอกทุกมุมของเมืองไทย…

 

ไม่ต่างกัน หรืออาจจะดีกว่า? เพราะเทคโนโลยี AI ช่วยกันอัพเดทข้อมูลใหม่ล่าสุด….อยู่ตลอดเวลา

 

ใคร? หรืออะไร? ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้รัฐวิสาหกิจที่เคยผูกขาดธุรกิจรับส่งพัสดุภัณฑ์ อย่าง…ไปรษณีย์ไทย มีปัญหาในทุกวันนี้?

 

เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า…เด็กไทยรุ่นใหม่ที่จะรังสรรค์ธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ให้ไต่ระดับขึ้นไปเป็น “ยูนิคอร์น” ในย่านอาเซียนหรือใหญ่กว่านั้นไม่มีเลยหรือ?

 

อะไรคือปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย ไร้ซึ่งธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ระดับ “ยูนิคอร์น” ได้จนถึงวันนี้?

 

2 คำถามใหญ่! ข้างต้น สำนักข่าว “เนตรทิพย์” มีคำตอบ!!!

 

ที่มาของคำตอบแรก มาจาก นักวิชาการหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้าน “ธุรกิจดิจิทัล” และ “ธุรกิจระหว่างประเทศ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นาม…ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

 

เริ่มกันที่ข้อมูลพื้นฐาน…อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ที่ระบุว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านราย จาก 360 ล้านรายในปี 2562 เป็น 400 ล้านรายในปี 2563

 

ชาวอาเซียนใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่คนไทยใช้เวลามากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งเป็นช่วงโควิด-19 (ล็อกดาวน์) คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 4.6 ชั่วโมง สร้างค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน

 

หันมาดูอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ (เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล) ที่พบว่า ยอดซื้อสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ในไทยเติบโตมากถึง 81% เทียบกับปีก่อน

 

มากกว่านั้น มูลค่าสินค้า (GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 มียอดรวม 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 7% เทียบกับปีก่อน และคาดการณ์ว่าปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท หรือโต 25% ต่อปี

 

เฉพาะธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในไทย เมื่อปี 2563 พบว่ามีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจะส่งให้ทั้ง 2 ธุรกิจนี้ เติบโตเฉลี่ย 45% ต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2568

 

จากโควิด-19 ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ เติบโตกว่า 42% แม้ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯจะติดลบ 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทว่าหากมองย้อนหลัง 5 ปี จะเห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะแอปฯสั่งอาหารออนไลน์และเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและไทย เติบโตขึ้นอย่างมาก

 

แล้วใครกันคือตัวปัญหา? ฉุดเศรษฐกิจดิจิทัล!

 

ผศ.ดร.สุทธิกร ชี้ว่า…อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” สัญชาติไทย ไม่อาจยกระดับไปสู่ความเป็น “ยูนิคอร์น” รวมถึงสร้างเงื่อนไขที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจดิจิทัล จนไม่อาจเติบใหญ่ได้อย่างที่ควรจะเป็น และที่สำคัญ ทำให้ธุรกิจไทย ไม่อาจแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติจากเพื่อนบ้านอาเซียนได้

 

นั่นเพราะ…ทัศคติของ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ที่กดทับธุรกิจสัญชาติไทย ไม่ได้เติบใหญ่และก้าวหน้า ด้วยการพยายามสร้างกติกา เงื่อนไข กฎระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ที่นอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมแล้ว ยังเป็นการบอนไซธุรกิจของคนไทยไม่เติบใหญ่อย่างที่ควรจะเป็น

 

ร้ายกว่านั้น…สิ่งที่ภาครัฐกระทำลงไปนั้น มันขัดแย้งกับกระแสโลก ในวันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดด

 

หากวันนี้…ภาครัฐ ไม่พิจารณาทบวนการออกกฎระเบียบและกฎหมาย หรืออื่นใดก็ตาม ที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” และธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ล่ะก็

 

ไม่เพียงธุรกิจสัญชาติไทยจะล้าหลัง ไร้โอกาสก้าวหน้า หากแต่เมืองไทยังจะตกเป็น “เบี้ยล่าง” ให้ธุรกิจข้ามชาติ จากเพื่อนบ้านอาเซียน ตบเท้าเข้ามาตักตวงและกอบโกยผลประโยชน์กันมิรู้จบสิ้น!

 

อีกที่มาของคำตอบ สำนักข่าว “เนตรทิพย์” ขอตอบเอง…นอกจากทัศนคติของ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” แล้ว อุปสรรคใหญ่สำคัญมากๆ ก็คือ ทัศนคติของบรรดา “เจ้าสัว” ที่ครองงำระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้

 

พวกเขาไม่ต้องการเห็น…บรรดา “สตาร์ทอัพ” สัญชาติไทย เติบใหญ่จนเป็น “ยูนิคอร์น” กระทั่ง อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจของพวกเขา

 

หากจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่มีแววดี และคาดหวังจะเติบโตในประเทศนี้ได้…ต้องเข้ามาอยู่ในสังกัดของพวกเขา

 

ซึ่งก็รวมถึงการไม่ขยับไปไหนได้ไกลของ ไปรษณีย์ไทย ที่ “ติดกับดัก” ความเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจำต้องอยู่ภายใต้การกดทับของ “อำนาจรัฐ” ที่ชี้นำให้ต้องทำและต้องเป็นเท่านั้น…

 

เป็น “ลูกไล่” ของธุรกิจข้ามชาติ!

 

“เจ้าสัว” กลุ่มนี้ มีครบทุกสิ่ง ทั้งเงิน อำนาจ เครือข่าย ผู้คน เครื่องมือ ทั้งปกติและพิเศษ มีแม้กระทั่ง การชี้นำ “อำนาจรัฐ” เพื่อให้ออกกฎกติมาบั่นทอนธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ได้อย่างแยบยล

 

หากวันนี้…เมืองไทย จะมี “ผู้กล้า” รวมกันล้ม! การครอบงำจากบรรดา “เจ้าสัว” ยักษ์ใหญ่ได้จริงแล้ว เชื่อว่า…ทัศนคติของ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” ที่เคยเป็นปัญหา จะหมดไปในบัดดล เช่นกัน!

 

ทว่า…การล้มการครอบงำจากบรรดา “เจ้าสัว” ยักษ์ใหญ่นั้น มิต่างจากการผลักเขาพระสุเมรุให้เคลื่อนที่!

ที่มา: http://www.natethip.com/news.php?id=3583

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

www.mitihoon.com