พลิกท่องเที่ยวไทย ให้ฟื้นได้อย่างทรงพลัง (ตอนที่ 1)

445
  • KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยระยะเวลาในการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศและสูญเสียโอกาสในการเป็นประเทศแรกที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทาง (“First Country To Visit”) โดยประเมินว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2 ล้านคนในปีนี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่เพียง 34% ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมราวครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือจำต้องปิดตัวถาวร
  • ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณ Oversupply มาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและประหยัด ซึ่งสถานการณ์โควิด-19มาซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020
  • ความท้าทายสำคัญอีกด้านคือการท่องเที่ยวไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในสัดส่วนสูงถึงกว่า 30% ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19จะผ่านพ้นไป อาจไม่สามารถคาดหวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโตได้ดีเหมือนที่ผ่านมา จากการที่จีนสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และแนวโน้มชะลอตัวของการตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ 

การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากจีน

ช่วงหลังตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวจากยุโรปและญี่ปุ่น เป็นนักท่องเที่ยวจีน โดยล่าสุดปี 2019 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 12% ของ GDP มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นมากกว่า ใน 4 (หรือ 28%) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีสัญญาณชะลอลง จากการหันมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากนโยบายของทางการจีนที่ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการสนับสนุนอุปสงค์ในด้านต่าง ๆ (Dual Circulation Strategy) ในระยะต่อไป โอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยกว่า 10 ล้านคนดังเช่นช่วงก่อนโควิด-19 อาจเป็นไปได้ยากในเร็วๆนี้ และนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทย  

ห้องพักขยายตัวเร็ว แข่งขันสูง จนมีสัญญาณ Oversupply มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด 

โรงแรมระดับกลางและที่พักราคาประหยัดขยายตัวสูงเกินกว่า 10% ต่อปี ขณะที่โรงแรมหรู (Luxury) ขยายตัวเพียง 6% ต่อปี และมีสัดส่วนในตลาดลดลงจาก 40% เหลือ 35% ในตลาดโรงแรมปี 2018 สาเหตุที่โรงแรมระดับกลางและราคาประหยัดมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเป็นผลทั้งจาก (1) กลุ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่มาไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นนักท่องเที่ยวในเอเชียโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มักเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ และเน้นท่องเที่ยวแบบประหยัดมากกว่าการพักหรูอยู่สบาย (2) การขยายตัวของแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว (E-Tourism Platform) ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงโรงแรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น 

เริ่มมีสัญญาณ Oversupply จากอุปทานห้องพักที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่อุปสงค์เริ่มชะลอตัวลง สะท้อนจาก (1) อัตรา
การเข้าพักขยายตัวชะลอลง 
สะท้อนการเข้าใกล้ระดับอิ่มตัว ในช่วงปี 2015 – 2019 จำนวนห้องพักแรมขยายตัวเฉลี่ย 4.7% ต่อปี แต่อัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) ขยายตัวเพียง 2.3% ต่อปี (2) การแข่งขันด้านราคาห้องพักสูงขึ้น จากระดับราคาห้องพักเฉลี่ยของห้องที่มีคนเข้าพัก (Average Daily Room Rate: ADR) ที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากปี 2016 ที่ขยายตัว 22% เหลือเพียง 1% ในปี 2019 เช่นเดียวกับรายรับของโรงแรม (Revenue Per Available Room: RevPAR) ที่อัตราการขยายตัวลดลงจาก 25% เหลือเพียง 1% ในช่วงปีเดียวกัน  

ผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรง-ลากยาว 

การระบาดระลอกสองของโควิด-19 และความล่าช้าของการกระจายวัคซีนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวตลอดปี 2021 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 34% (รูปที่ 8) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเข้าพักในช่วงก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 71% ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง และมีห้องพักปล่อยว่างถึง 2 ใน 3 หรือเฉลี่ย 540,000 ห้องต่อวัน ทำให้ธุรกิจโรงแรมรายได้หดหายกว่า 70% และมีปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคาร โดยเฉพาะในกลุ่มที่พักขนาดเล็กที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL Ratio)  พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส ปี 2020 

www.mitihoon.com