เจาะลึกหุ้น KTC ปรับกระบวนทัพ “ธุรกิจใหม่”

2188

หากจะเอ่ยถึงธุรกิจที่ติดเรดาร์นักลงทุนและผลงานก็เป็นที่จับตาในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2 ปีก่อน(ปี 61) ได้สร้าง กำไรก็พุ่งปรี๊ดทะลุ 5 พันล้านบาท และราคาหุ้นก็ทำนิวไฮไม่แพ้กัน ที่ 382 บาท (ก่อนจะแตกพาร์จาก 10 บาทเหลือพาร์ 1บาทในปัจจุบัน) “เวิดดิ้ง” ของผู้บริหารที่ว่า “ผมจะทำให้…มีกำไรทุกๆปี”

ปี 64 ผู้บริหารยังประกาศลั่นว่า “…กำไรจะต้องนิวไฮทุกๆปี”

ท่ามกล่างกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ (New Normal) และปัจจัยที่ไม่คาดฝันเข้ามากระทบ โดยเฉพาะวิกฤตที่รุนแรงของโควิด -19 และมาตรการต่างๆที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมาปรับแผนยุทธศาสตร์กันใหม่อยู่ตลอดเวลา พูดมาขนาดนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักธุรกิจ “รูดปรื๊ด” บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ที่มี แม่ทัพที่แข็งแกร่งและอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ที่ผ่านมา นั่นก็คือ “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งล่าสุดได้ประกาศลั่นว่า KTC จะต้องสร้างกำไรเติบโตทุกๆปี

ปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตเริ่มไม่คุ้มเสี่ยง

แม้ว่าธุรกิจหลักสินเชื่อบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ที่สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อ “แบงก์ชาติ” เข้ามาควบคุมเพดานดอกเบี้ย โดย บัตรเครดิตลดจาก 18 % เหลือ 16% และบัตรกดเงินสดดอกเบี้ยก็ลดลงจาก 28% เหลือ 25% เริ่ม 1ส.ค.63 ปีที่ผ่านมา ทำให้การปล่อยสินเชื่อเริ่มไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ได้รับ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนของ KTC จะต้องหันไปหาโมเดลธุรกิจใหม่

ปลายปี 63 ลุยสินเชื่อจำนำทะเบียน

ปลายปี 63 ได้เห็นการขยับตัวของ KTC ไปสู่ธุรกิจใหม่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมชูกลยุทธ์อนุมัติรวดเร็วไม่เกิน 2 ชม.รู้ผลโดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาไปที่สาขา เพียงสมัครสินเชื่อผ่าน แอปพลิเคชั่น และที่สำคัญกลยุทธ์นี้จะแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากไม่ได้เน้นการเพิ่มจำนวนสาขาแต่อย่างใด ซึ่งปีนี้จะเน้นขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นทั้ง ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนบน พร้อมตั้งเป้าหมายยอดสินเชื่อปี 64 ราว 1,000 ล้านบาท (จากปีก่อนอยู่ที่ราว 160 ลบ.) และน่าจะกลายเป็นธุรกิจเรือธงในอนาคต ซึ่งหากดูข้อมูลจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 ก.ค. 63 สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันมีจำนวนกว่า 3,392,032 บัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างในระบบถึง 137,637 ล้านบาท ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากทีเดียว นอกจากนี้ KTC ยังสนใจศึกษา ในส่วนของพิโก้ไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ด้วย

ถือหุ้น “เคทีบี ลีสซิ่ง”หวังบุกสินเชื่อรถ

ส่วนปีนี้ ล่าสุดบริษัทสนใจเข้าถือหุ้น “บริษัทกรุงไทยลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) หรือ “เคทีบี ลีสซิ่ง ถึง 75.05 % เป็นการตอบโจทย์และทำให้บริษัททำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันอย่างครบวงจรและยังได้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม โดยบริษัทจะเข้าไปศึกษาระบบใน “เคทีบี ลีสซิ่ง” และคาดว่าจะเริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจได้หลังจาก ทาง “แบงก์ชาติ” อนุญาตให้ดำเนินการได้ รวมถึงผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายนนี้

KTBL มีไลเซ่นส์ครบ

ด้านนักวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า การเข้าลงทุนในบริษัทกรุงไทยลิสซิ่ง (KTBL) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ KTB นั้น KTC ได้มองเห็นโอกาสในการเติบโตในธุรกิจดังกล่าว และมองผลตอบแทนคุ้มความเสี่ยงเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ทำให้ KTC มีไลเซ่นส์ในการทำธุรกิจครอบคลุมหลากหลายทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล พิโก้ นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อจำนำทะเบียน (เคทีซี พี่เบิ้ม)และลิสซิ่ง+เช่าซื้อ ทั้งนี้หากทุกอย่างเรียบร้อยน่าจะจบราวสิ้นปี 64 แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา KTBL ได้หยุดทำธุรกิจไประยะหนึ่งในพอร์ตมีหนี้ดีอยู่ ราว 600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้ที่ปรับโครงสร้าง ต้องตามหนี้เก่าให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องตั้งสำรองเพิ่ม ทำให้ราคาซื้อยังไม่นิ่งปรับขึ้นลงได้ระหว่าง 594-987 ล้านบาทเพื่อสะท้อนภาระหนี้เสียดังกล่าว ซึ่งจะสะท้อนออกมาในราคาที่ปรับสุดท้ายในเดือน ธ.ค.64 ทั้งนี้หลังเข้าลงทุนคงต้องปรับกระบวนการ ปรับคน ให้พร้อมทำธุรกิจใหม่อีกครั้งหนึ่ง จึงคาดว่า KTBL  ยังไม่สามารถ generate รายได้และกำไรให้ KTC ในปีนี้

ยักษ์ใหญ่เข้าชิงเค้กสินเชื่อรถฝุ่นตลบ

หากจะหันไปดูตลาดกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ทั้งมือ1และมือ 2 ซึ่งผู้เล่นยักษ์ใหญ่คือค่าย “ธนชาต” และลิสซิ่งค่ายรถใหญ่ๆ ไม่เพียงเท่านี้ล่าสุดก็ยังมียักษ์ในวงการธุรกิจที่กระโจนเข้ามาแบ่งเค้กในธุรกิจนี้แล้วเช่นกัน นำโดยกลุ่ม “เจริญ สิริวัตนภักดี” โดยผ่านทาง “บมจ.เครือไทย โฮลดิ้ง” ได้ดึงมือดีจากกรุงศรี คอนซูมเมอร์ “ฐากร ปิยะพันธ์” มานั่งซีอีโอ พร้อมลุยเต็มสูบทั้งสินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ และไมโครไฟแนนซ์,หรือแม้แต่ “ธ.ออมสิน” ที่ประกาศลั่นว่า จะบุกตลาดจำนำทะเบียนรถด้วยกลยุทธ์ดอกเบี้ยต่ำ เชื่อว่าตลาดสินเชื่อรถคงฝุ่นตลบน่าดู  โดยขอย้อนดูเค้กที่มีพบว่าตลาดเช่าซื้อมีมูลค่าสูงถึง 1.76 ล้านล้านบาท โดยที่ตลาดเช่าซื้อรถมือ 1 มีสัดส่วนกว่า 70% หรือราว 1.3 ล้านล้านบาทและตลาดเช่าซื้อรถมือ 2 อีก 20% หรือราว 3.6 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นสินเชื่อรถแลกเงิน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียน สัดส่วนอีก 8-9% หรือราว1.5 แสนล้านบาท ไม่แปลกใจที่ยักษ์ธุรกิจต่างก็เข้ามาแบ่งแชร์ในธุรกิจนี้

 แต่!!!เชื่อว่า KTC ไม่หวั่นพร้อมลุยประกาศลั่นต้นทุนปีนี้ไม่ถึง 1% โดยเฉพาะตราสารทางการเงินระยะสั้น ทั้ง บีอี/พีเอ็น พร้อมซัพพอร์ตบริษัทในเครือเต็มขุมกำลัง

หลังจากนี้ไปนักลงทุนคงจะต้องจับตาดูกันให้ดีว่า KTC ที่มีคุณ “ระเฑียร ศรีมงคล” เป็นแม่ทัพใหญ่จะงัดกลเม็ดเด็ดพรายอะไรใหม่ๆออกมาอีก เชื่อว่าน่าติดตามทีเดียว!!!! ซึ่งนี่จะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของการลงทุนของใครหลายๆคนกับหุ้น KTC ว่าจะยังสามารถสร้างกำไรให้เติบโตนิวไฮจากธุรกิจใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีผู้เล่นระดับบิ๊กธุรกิจเข้าไปร่วมแย่งเค้กกันฝุ่นตลบอย่างนี้???

www.mitihoon.com