HFTเร่งส่งออเดอร์ล้นทะลัก รับทรัพย์ปรับราคาขาย-เป้า9.80บ.

1144

 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ฮั้วฟง รับเบอร์ (ไทยแลนด์) หรือ HFT  ผู้ผลิตยางนอกและยางในสำหรับรถจักรยานภายใต้เครื่องหมายการค้า “DURO” และสำหรับรถจักรยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “DUNLOP” โดย “แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรม” เปิดเผยว่า แนวโน้มผลงานไตรมาส 1/64 จะเติบโตต่อเนื่อง จากการที่บริษัทเร่งส่งมอบออเดอร์ให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทรับออเดอร์เข้ามาจนกำลังผลิตใกล้เต็ม 100%

ลูกค้าหลักสั่งออเดอร์ใหม่ทะลัก

ส่วนในไตรมาส 2/64 บริษัทมีโอกาสได้รับออเดอร์ใหม่ๆจากกลุ่มลูกค้าหลัก อย่าง “ค่ายรถจักรยานทั้ง HONDA และKAWASAKI” เพราะเป็นช่วงที่ค่ายรถจักรยานจะออกรถรุ่นใหม่ๆ ส่วนกลุ่มผู้ผลิตรถจักรยาน ได้แก่ BANGKOK CYCLE, SIAM CYCLE ก็มีแผนเปิดตัวรุ่นใหม่อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทจะมีออเดอร์จาก “กลุ่มตลาดทดแทนยางที่สึกหรอ” มากขึ้น โดยบริษัทได้ขายตรงไปยังร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย

ด้าน “นายจวง จื้อ เหยา” กรรมการ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมีคำสั่งซื้อยางล้อจักรยานที่จะทยอยส่งมอบไปถึงปี 2565 และมีคำสั่งซื้อยางล้อรถจักรยานยนต์ถึงสิ้นปีนี้ และแม้ราคาวัตถุดิบของบริษัทจะปรับตัวขึ้นมา แต่บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าราว 7.5-7.7% เพื่อให้ครอบคลุมราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น แม้ว่าช่วงต้นไตรมาส 1/64 อาจมีการผลิตสินค้าภายใต้ราคาเดิมสำหรับออร์เดอร์ที่ตกค้างมาจากปีก่อนบ้างก็ตาม

มั่นใจยอดขายพุ่งแรง15%แตะ3.2พันล.

โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 15% แตะระดับ 3,200 ล้านบาท ซึ่งยังเชื่อมั่นว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย แม้ในช่วงต้นไตรมาส 1/64 ม.ค.-ก.พ.จะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมา แต่ยังสามารถผลิตได้เต็มกำลัง อย่างไรก็ดี บริษัทมุ่งเน้นรักษาระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 95% พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ใช้เวลาสั้นลง และเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะรุกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชาและกัญชงอย่างเต็มที่ ด้วยการขายเครื่องมือและอุปกรณ์การปลูกแบบอินดอร์ ทั้งการปลูกในระดับครัวเรือน และเชิงพาณิชย์ ซึ่งง่ายต่อการควบคุมอุณหภูมิ น้ำ และแสงไฟ เพื่อทำให้ได้ผลผลิตกัญชงและกัญชาที่มีคุณภาพ โดยบริษัทหวังจะเป็นผู้เล่นในตลาดรายแรกๆ ของไทย

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าแผนลงทุนสร้าง Distribution Warehouse (โกดังกระจายสินค้า) ในอินโดนีเซีย หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้แผนดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง โดยหากสถานการณ์คลี่คลายจะรีบดำเนินการต่อทันที และในอนาคตยังมองโอกาสตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่ EEC เพื่อย้ายโรงงานทั้ง 3 แห่งไว้ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น

www.mitihoon.com