“สกาย ไอซีที เปิดภารกิจสร้าง “AI Mentor” จาก AI Trainer สู่การสร้าง AI Talent สู่อีโคซิสเท็ม”

110

มิติหุ้น – นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY เปิดประเด็นว่า ปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน AI หรือ AI Talent ถือเป็นปัญหาสำคัญของทุกภาคส่วน แต่การจะพัฒนาบุคลากรด้าน AI ขึ้นมาจำนวนมากในทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย บริษัทจึงมองเรื่องการสร้างบุคลากรภาคการศึกษาให้แข็งแกร่ง พร้อมเป็น AI Mentor เพื่อที่บุคลากรเหล่านี้จะได้ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนเป็นวงกว้างได้อีกทอดหนึ่ง และเป็นการสร้างรากฐานที่ดีสู่การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Ecosystem ในระยะยาว 

 “เราเชื่อว่า ถ้าครูแข็งแรง เด็กก็จะแข็งแรง เราในฐานะผู้ที่อยู่ในแวดวงด้านเทคโนโลยีและ AI ระดับประเทศ มีทั้งบุคลากร องค์ความรู้ อุปกรณ์ เครือข่ายด้านเทคโนโลยี จึงมองว่าเราต้องเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานของการพัฒนาสังคมให้แข็งแรง ผ่านการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เสมือนเราเป็น AI Trainer ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่คุณครู จนคุณครูแข็งแรง พร้อมไปเป็น AI Mentor สร้างเยาวชนให้เป็น AI Talent ที่แข็งแรงให้แก่ประเทศอีกทอดหนึ่ง” นายขยล กล่าว 

 ทั้งนี้ บริษัทจึงเริ่มต้นภารกิจแรกด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมที่จะทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเข้าไปอยู่ในภาคการศึกษาซึ่งถือเป็นพื้นฐานของชีวิต โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ SenseTime พันธมิตรด้าน AI Solutions รายใหญ่ของโลกเข้ามาช่วยออกแบบโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของ AI ด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานอย่าง Python และ Block Diagram เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญทักษะคอมพิวเตอร์เชิงลึกสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่าย และสามารถนำทักษะ AI ไปบูรณาการร่วมกับแผนการเรียนการสอนจนขยายผลไปสู่ผู้เรียน และสถานศึกษาข้างเคียง รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 

 รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางคณะฯ และสกาย ไอซีที ตั้งเป้าหมายระยะแรกในการขยายองค์ความรู้ด้าน AI Literacy แก่บุคลากรการศึกษาจำนวน 300-400 คน หรือ 1-2 โรงเรียนต่อจังหวัด โดยมองว่าหากแต่ละโรงเรียนมีคุณครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และคุณครูจากกลุ่มสาระวิชาอื่นเข้ามาอบรมกับทางโครงการ แล้วสามารถนำองค์ความรู้ด้าน AI ไปขยายผลต่อภายในโรงเรียนได้จะเกิดประโยชน์ต่อเยาวชนและระบบการศึกษาไทยในอนาคต  ทั้งนี้ ทางคณะฯ ยังต้องพัฒนาพี่เลี้ยงหรือตัวแทนผู้เชี่ยวชาญในระดับท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย เพื่อทำหน้าที่เข้าไปดูแลแต่ละโรงเรียนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีปัจจัยและเงื่อนไขที่แตกต่างกันจึงอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการขยายผลแก่นักเรียนและบุคลกากรตามพื้นที่ต่างๆ  

 “องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและ AI คงมีบทบาทสำคัญต่อภาคการศึกษา แต่ความยากง่ายของการขยายผลต่อในแต่ละพื้นที่คือคุณครูและบุคลากรต่างมีภาระงานและวิชาที่ต้องดูแล เราจึงหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ AI เข้าไปเป็นตัวช่วยและสามารถบูรณาการกับสิ่งที่คุณครูเขาสอนอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปเท่านั้น เพื่อให้ความรู้ AI เข้าถึงได้ง่ายและอยู่กับพวกเขาได้ยั่งยืนกว่าเดิม” รศ.ดร.อนุชาติ อธิบาย 

 ขณะที่นายวชิรวิทย์ เอี่ยมวิลัย คุณครูประจำวิชาวิทยาการคำนวณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ร่วมอบรม เล่าว่า ในช่วงที่ตนเรียนจบปริญญาตรีก่อนจะบรรจุเข้ามาเป็นคุณครูในโรงเรียน หลักสูตรด้าน AI ยังไม่แพร่หลายในมหาวิทยาลัยเท่าไรนัก จึงต้องยอมรับว่าเรื่อง AI ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณครู ทำให้เมื่อทางโรงเรียนเริ่มต้นสอนหลักสูตรที่ต้องอาศัยความรู้ด้าน AI คุณครูส่วนใหญ่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก โดยหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือ แต่ความรู้ดังกล่าวเป็นเพียงความเข้าใจ AI ขั้นเบื้องต้นเท่านั้น ยังอาจไม่ใช่ข้อมูลเชิงลึก เมื่อมีหลักสูตรอบรมด้าน AI Literacy จึงสนใจมาเข้าร่วมเพื่อเพิ่มพูนทักษะและนำไปพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณภายในโรงเรียน 

 “จากการเรียนรู้ในครั้งนี้คิดว่าหากได้มีโอกาสเรียนหมดทุกบทของโปรแกรมน่าจะทำให้เข้าใจเบื้องหลังการทำงานของ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การสอนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าถ้าครูผู้สอนมีความเข้าใจมากเท่าไร ผู้เรียนก็จะเรียนรู้ได้มากเท่านั้น” นายวชิรวิทย์ กล่าว 

 ด้าน ดร.ชยันต์ นันทวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ หนึ่งในผู้ร่วมอบรม เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบกับ 5-6 ปีที่แล้ว เทคโนโลยี AI ยังดูเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากยังขาดการเรียนรู้ทฤษฎีและเครื่องมือด้าน AI ต่างจากปัจจุบันที่นักเรียนระดับประถมศึกษาก็สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับ AI โดยไม่จำกัดสาระวิชา และเชื่อว่าการพัฒนาหลักสูตรด้าน AI Literacy จะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์หรือบุคลากรทางการศึกษาในหลักสูตรอื่น อาทิ สังคมศาสตร์ ให้เข้าใจการทำงานของ AI ง่ายขึ้น จนสามารถต่อยอดนำเทคโนโลยี AI ไปใช้แก้ปัญหาในศาสตร์อื่นนอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ได้