STECH พร้อมเข้า SET Q3/64 ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 กำลังการผลิตสูงสุด หลังขายไอพีโอ 203.5 ล้านหุ้น

128

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด  (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการเดินหน้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 203,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นร้อยละ 28.07 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
โดย STECH เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงภายใต้เครื่องหมายการค้า “STEC” ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีผลิตภัณฑ์เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงต่างๆ ให้แก่ภาครัฐบาลและเอกชน ตลอดจนการให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์และบริการตอกเสาเข็ม และให้บริการรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง ทั้งสิ้น 9 แห่ง กระจายอยู่ในหลายภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี สุโขทัย ลำพูน บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุบลราชธานี และนครราชสีมา และมีโรงงานเสาเข็มสปัน ตั้งอยู่ที่สระบุรี และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 10 (สาขา 2) ที่ชลบุรี เพื่อรองรับอุปสงค์การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ EEC ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/2564
ทั้งนี้ STECH มีกำลังการผลิตคอนกรีตอัดแรงรวมอยู่ที่ประมาณ 318,000 แสนคิวคอนกรีตต่อปี ใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70% หลังโรงงานแห่งใหม่ที่ชลบุรีแล้วเสร็จ รวมทั้ง กำลังการผลิตโรงงานเดิมที่เพิ่มขึ้น จากการปรับปรุงไลน์การผลิตโรงงานที่สระบุรี ดอนพุต จะสนับสนุนให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกราว 30% เป็น 430,000 คิวคอนกรีตต่อปี
วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ STECH จะนำไปใช้ขยายธุรกิจเสาคอนกรีตอัดแรง ประมาณ 308 ล้านบาท รวมทั้ง นำไปใช้โครงการต่างๆ ของบริษัท ในช่วงปี 2564 – 2566  ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดชลบุรี สาขา 2 ประมาณ 58 ล้านบาท ภายในปี 2564 โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานดอนพุด 45 ล้านบาท ภายในปี 2565 โครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 80 ล้านบาท ภายในปี 2566 โครงการซื้อรถขนส่งผลิตภัณฑ์คอนกรีต 50 ล้านบาท ภายในปี 2564 และโครงการซื้อเครื่องกดกันสั่นสะเทือน 65 ล้านบาท ภายในปี 2564 และโครงการพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 10 ล้านบาท ภายในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทฯ ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงิน 250-300 ล้านบาท ภายในปี 2564 ส่วนที่เหลือ นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายในปี 2564
สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ 2 ลำดับแรก คือ บริษัท ร่วมชัยกิจ จำกัด สัดส่วนการถือหุ้นก่อน IPO คือ 68.46% และหลัง IPO 49.24% ลำดับที่ 2 คือ กลุ่มครอบครัวมงคลศรีสวัสดิ สัดส่วนการถือหุ้นก่อน IPO คือ 13.63% และหลัง IPO 9.81%
“เรามั่นใจ STECH จะเป็นอีกหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรม เนื่องจากจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องงการของลูกค้า ตลอดจนมีโรงงานกระจายอยู่ในหลายภูมิภาคของประเทศ ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยต้นทุนค่าขนส่งที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับ ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้ จะสนับสนุนเป้าหมายรายได้ปี 64 ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง   สอดคล้องกับงานก่อสร้างตามนโยบายภาครัฐ โดยจะรักษาอัตรากำไรสุทธิให้เติบโตสอดคล้องกัน” นายวัฒน์ชัย กล่าว
นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือ ไฟลิ่ง STECH เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมตัวโรดโชว์ เพื่อนำเสนอข้อมูลบริษัทฯ โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Facebook ของ IR PLUS : https://www.facebook.com/irplus ในวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30 น.นี้ และคาดว่า STECH จะมีการเสนอขายหุ้น พร้อมทั้ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในไตรมาส 3 นี้
ด้วยจุดเด่นของ STECH เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ของอุตสาหกรรม มีชื่อเสียงและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าชั้นนำมายาวนาน ผู้บริหารมีประสบการณ์กว่า 35 ปี เป็นเบอร์ 1 ในแง่ของผู้ผลิตที่มีจำนวนโรงงานมากที่สุด และกำลังการผลิตคอนกรีตอัดแรงสูงสุด ทำให้มีโอกาสได้รับงานเพิ่มขึ้น สอดรับการขยายงานโครงสร้างพื้นฐานตามแผนระยาวของภาครัฐบาลอีกไม่น้อยกว่า 10 ปีจากนี้ และการลงทุนของภาคเอกชน ช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทและความน่าสนใจในการลงทุนในระยะยาว